สมอ.คลอดมาตรฐาน'โรงเรียนปลอดภัย' ลดความเสี่ยงอันตราย รร.สังกัด สพฐ.กว่า 30,000 โรง

สมอ.คลอดมาตรฐาน’โรงเรียนปลอดภัย‘ ลดความเสี่ยงอันตราย รร.สังกัด สพฐ.กว่า 30,000 โรง

1 มี.ค. 2564 นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการผลักดันให้มีการนำมาตรฐานการจัดการด้านความปลอดภัยไปใช้ในโรงเรียน ว่า สมอ. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และภาคีเครือข่ายเด็กปลอดภัยทั้งจากภาครัฐและเอกชนกว่า 10 หน่วยงาน อาทิ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มูลนิธิรามาธิบดี มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น จัดทำมาตรฐาน “โรงเรียนปลอดภัย” เพื่อให้สถานศึกษาในสังกัด สพฐ. กว่า 30,000 โรง

ทั้งนี้เป็นการนำไปประยุกต์ใช้บริหารจัดการภายในโรงเรียน เพื่อลดความเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากอุปกรณ์ หรือเครื่องมือต่างๆ เช่น อันตรายจากอาคารเรียน อาคารประกอบ สนามเด็กเล่น สนามกีฬา เพลิงไหม้ในห้องครัว อุบัติเหตุและอุปกรณ์ภายในห้องเรียน การจัดการเมื่อเกิดโรคระบาด และการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเตรียมความพร้อมและการดำเนินการเกี่ยวกับภาวะฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นในโรงเรียนเพื่อให้เด็กนักเรียน และบุคลากร ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีความปลอดภัยสูงสุด โดยขณะนี้อยู่ในกระบวนการประชาพิจารณ์เพื่อให้มาตรฐานมีความเหมาะสมในการนำไปใช้ และหลังจากนี้จะฝึกอบรมให้ความรู้แก่ผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอนเกี่ยวกับมาตรฐานดังกล่าวผ่านทางสื่อออนไลน์ของ สพฐ. ที่เชื่อมต่อกับทุกโรงเรียนในสังกัด ซึ่งคาดว่าเปิดเทอมใหม่ในเดือนพ.ค. 2564 นี้ ทุกโรงเรียนจะสามารถนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้บริหารจัดการภายในโรงเรียนได้ทันที

โดยมาตรฐาน “โรงเรียนปลอดภัย” มีขอบข่ายคุ้มครองความปลอดภัยแก่นักเรียนใน 4 ด้าน ดังนี้

1.ด้านสิ่งแวดล้อมทางกายภาพของโรงเรียน เช่น อาคารเรียน อาคารประกอบ และสิ่งก่อสร้างอื่น สิ่งแวดล้อมภายนอกอาคาร เครื่องมือ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ต่างๆ

2.ด้านการดำรงชีวิต ได้แก่ การบาดเจ็บ/อุบัติเหตุ จากสภาพแวดล้อม การเรียนการสอน และเครื่องเล่นต่างๆ จากบุคคล/อาชญากรรม สังคม/เทคโนโลยี สุขภาพ/สุขภาพจิต ยาเสพติด/กลั่นแกล้งรังแกกัน/ค้ามนุษย์ ติดเกม สื่อออนไลน์/เพศ/ความรุนแรงทะเลาะวิวาท

3.ด้านภัยพิบัติ จากธรรมชาติ เช่น อุทกภัย/อุทกภัยดินโคลนถล่ม /วาตภัย/อัคคีภัย/แผ่นดินไหว/สึนามิ จากมนุษย์ เช่น ไฟป่า/หมอกควัน/ฝุ่น PM 2.5 และจากโรคระบาด เช่น โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (covid -19) เป็นต้น

4.ด้านการเดินทาง ได้แก่ ทางบก เช่น รถของโรงเรียน รถของบุคคลภายนอก จักรยานยนต์/จักรยาน ทางน้ำ เดินเท้า และผู้ปกครองรับส่ง เป็นต้น

” การจัดทำระบบบริหารจัดการด้านความปลอดภัยภายในโรงเรียนจะประสบความสำเร็จได้ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องมีความมุ่งมั่นในการดำเนินการ โดยจะต้องจัดตั้งคณะกรรมการความปลอดภัยของโรงเรียน กำหนดเป้าหมายและแผนระยะ 3 ปี ครอบคลุมทุกด้านทุกมิติของโรงเรียน กำหนดแผนงานโครงการกิจกรรมประจำปีอย่างเป็นรูปธรรม มีการปฏิบัติและรายงานผลการดำเนินงานของกิจกรรมตามช่วงเวลาที่กำหนดประเมินและรายงานผลการดำเนินงานของกิจกรรมตามช่วงเวลาที่กำหนด มีการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานเพื่อนำไปปรับปรุงแผนงานปีถัดไป”นายวันชัย กล่าว

ขอบคุณที่มาและอ่านต่อ : เว็บไซต์ไทยโพสต์ วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2564 เวลา 10:14 น.

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่