สสส. เสนอ! ตัด “โรงเรียน” ออกจาก “อนุบาล” แก้ไขปัญหาละเมิดเด็ก

สสส. เสนอ! ตัด “โรงเรียน” ออกจาก “อนุบาล” แก้ไขปัญหาละเมิดเด็ก มีข้อเสนอทั้งหมด 12 ข้อ พร้อมชูให้ตัดคำว่า “โรงเรียน” ออกจากอนุบาล ทั้งยังมุ่งคุ้มครอง ดูแล เน้นวินัยเชิงบวก ครูเข้าใจจิตวิทยาเด็ก รวมถึงสร้างระบบตรวจสอบและแจ้งเหตุผ่านระบบดิจิทัล

วันที่ 9 ตุลาคม 2563 “เครือข่ายภาคีสร้างสุขภาวะเด็ก” ได้เดินทางไปยังสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร เพื่อมอบข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการละเมิดเด็กในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย และส่งเสริมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย ต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยมีนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้รับมอบ ซึ่งมีข้อเสนอทั้งหมด 12 ข้อ พร้อมชูให้ตัดคำว่า “โรงเรียน” ออกจากอนุบาล ทั้งยังมุ่งคุ้มครอง ดูแล เน้นวินัยเชิงบวก ครูเข้าใจจิตวิทยาเด็ก รวมถึงสร้างระบบตรวจสอบและแจ้งเหตุผ่านระบบดิจิทัล

นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. ระบุว่า ข้อเสนอทั้ง 12 ข้อนี้ เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น ในขณะที่ทางพ่อแม่ผู้ปกครองก็เห็นพ้องว่า หากลงมือทำทันทีจะเป็นกำไรของสังคมไทยมาก 

“ขอให้คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ให้สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยประกาศตนเป็นพื้นที่ปลอดพฤติกรรมรุนแรงต่อเด็ก ด้วยกาย วาจา อารมณ์ และแสดงมาตรการในการดำเนินงานให้สอดคล้อง ตลอดจนกำหนดแนวทางติดตามและประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ และประกาศหลักการสำคัญของการจัดการศึกษาปฐมวัยที่สอดคล้องกับพัฒนาการตามธรรมชาติของเด็ก คำนึงถึงเด็กที่มีความต้องการพิเศษ และยึดหลักการศึกษาที่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัย คือการรักษาความเป็นธรรมชาติของเด็กไว้ และเปิดโอกาสให้จิตวิญญาณ ร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา พัฒนาไปพร้อมกันอย่างสมดุลและเหมาะสมตามวัย  ไม่ใช่การสอนเพื่อเร่งเรียนเขียนอ่าน พิจารณาตัดคำว่า “โรงเรียน” ออกจากอนุบาลเพราะสร้างความเข้าใจผิดว่าเด็กต้องอ่านออกเขียนได้ ควรใช้คำว่า “อนุบาล”  ซึ่งราชบัณฑิตยสภาให้ความหมายว่า “ตามเลี้ยงดู ตามระวังรักษา” นางสาวณัฐยา กล่าว

ทางด้านนางสุดใจ พรหมเกิด ผู้อำนวยการมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ชี้ว่า ปัญหานี้เป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วน จึงควรได้รับการแก้ไขเป็นลำดับต้น ๆ ขณะที่นายอรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ ผู้ก่อตั้ง Life Education Thailand มองว่า นอกจากการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย และการส่งเสริมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ปลอดภัยแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการคือ การมีส่วนร่วมของครอบครัวในการพัฒนาเด็กปฐมวัยร่วมกับครู

ส่วนนายเชษฐา มั่นคง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ก็ระบุว่า ผู้ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการดูแลเด็กปฐมวัย ต้องตระหนักรู้ด้านการพัฒนาเด็กที่มุ่งเรียนรู้ด้วยตนเอง ขณะที่พ่อแม่ ครู และผู้ดูแลเด็กเป็นเพียงผู้สนับสนุน และเน้นการเรียนรู้ผ่านการเล่นอย่างอิสระ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอย่างที่เป็นข่าวในปัจจุบัน

“การพัฒนาเด็กปฐมวัย ไม่ได้มีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เป็นผู้ที่ดูแลโดยเฉพาะ จะต้องมีหลาย ๆ หน่วยงานร่วมกันบูรณาการนำไปสู่การกำหนดทิศทางพัฒนาเด็กปฐมวัยที่ชัดเจนมากขึ้น สุดท้ายนี้เพื่อให้คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยทำงานขับเคลื่อนได้อย่างเต็มที่และมีคุณภาพ จึงจำเป็นต้องมี “หน่วยงานหรือสำนักงาน”ของตนเอง เพื่อขับเคลื่อนงานพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นการเฉพาะ” นายเชษฐา กล่าวปิดท้าย

ขอบคุณที่มา : เว็บไซต์สนุกดอทคอม 9 ตุลาคม 2563

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่