หวั่นซ้ำรอย !!! สช.เร่งอบรมทักษะพี่เลี้ยงเด็ก 1.2 หมื่นคน

หวั่นซ้ำรอย !!! สช.เร่งอบรมทักษะพี่เลี้ยงเด็ก 1.2 หมื่นคน ใช้หลักสูตรของทาง พม.เพื่อให้ครอบคลุมตามกฏหมายคุ้มครองเด็ก ประสานกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฎที่มีอยู่ 38 แห่งทั่วประเทศเพื่อขอใช้สถานที่ในการฝึกอบรม

นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่า ตนได้ประชุมร่วมกับนางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อเตรียมที่จะจัดอบรมพี่เลี้ยงเด็กของโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ โดยกำหนดที่จะอบรมให้ทันวันที่ 30 พ.ย. ซึ่งเป็นช่วงที่โรงเรียนเอกชนปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ทั้งนี้จากการสำรวจเบื้องต้นมีพี่เลี้ยงเด็กที่สนใจจะเข้าร่วมการอบรมครั้งนี้ประมาณ 12,000 คน ส่วนหลักสูตรที่จะใช้ในการอบรมนั้น จะใช้หลักสูตรของทาง พม.เพื่อให้ครอบคลุมตามกฏหมายคุ้มครองเด็กในทุกมิติ รวมทั้งจะเสริมความรู้ใหม่ๆ เพิ่มเติมไปด้วย อาทิ เทคนิคการดูแลเด็กอย่างไรเพื่อไม่ให้มีการละเมิดสิทธิเด็ก จิตวิทยาและพัฒนาการของเด็ก เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้กับพี่เลี้ยงเด็กจะได้ไม่ทำอะไรที่เป็นการสุ่มเสียงต่อการละเมิดสิทธิเด็ก

“เท่าที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้มีการสำรวจพี่เลี้ยงเด็กในโรงเรียนเอกชน พบว่ามีผู้ที่ไม่ได้จบปริญญาตรีด้านปฐมวัย หรือด้านที่เกี่ยวข้องอยู่ถึง 12,000 คน และส่วนใหญ่จะมีการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือไม่ก็ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ดังนั้นจากที่ผมได้พูดคุยกับทางอธิบดี จึงเห็นตรงกันว่าควรที่จะเติมเต็มความรู้ให้กับพี่เลี้ยงเด็กกลุ่มนี้จะได้ไม่เกิดปัญหาเหมือนกับโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ขึ้นมาอีก โดยนอกจากจะนำหลักสูตรของ พม.เข้ามาใช้ในการฝึกอบรมแล้ว พม.ยังจะช่วยสนับสนุนในเรื่องของวิทยากร และเจ้าหน้าที่เพื่อเข้ามาทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ สช.ในการดูแลเด็กโรงเรียนเอกชน นอกจากนี้ สช.กำลังประสานกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฎที่มีอยู่ 38 แห่งทั่วประเทศเพื่อขอใช้สถานที่ในการฝึกอบรม รวมทั้งให้อาจารย์ของมหาวิทยาลัยได้เข้ามาช่วยเป็นวิทยากรฝึกอบรมด้วย” เลขาธิการ กช. กล่าว

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า หลังการฝึกอบรมพี่เลี้ยงเด็กในครั้งนี้แล้ว สช.จะมากำหนดกติกาผู้ที่จะเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงเด็กต่อไปจะต้องผ่านการอบรมพัฒนาในหลักสูตรดังกล่าวนี้ด้วย ซึ่งจะใช้เวลาในการฝึกอบรม จำนวน 35 ชั่วโมง ใช้เวลา 5 วัน ทั้งทฤษฎีและปฎิบัติ แต่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อให้เป็นไปตามหลักโซเชียล ดิสแทนซิ่ง (social distancing) และลดค่าใช้จ่ายด้านงบประมาณในการฝึกการอบรม โดยให้พัฒนาผ่านระบบอิเล็คทรอนิกส์ (e – Learning) ให้ครูได้เรียนรู้เองบางส่วน และเข้าอบรมอีกบางส่วนในจุดที่ สช.กำหนด ดังนั้นต่อไปหากใครจะเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงเด็ก ถ้าไม่จบปริญญาตรีในสาขาที่เกี่ยวข้อง และไม่ผ่านการอบรมหลักสูตรนี้มาก่อนจะไม่อนุญาตให้เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงเด็ก หากโรงเรียนเอกชนแห่งใดฝ่าฝืนก็จะมีการดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยป้องกันปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กได้แน่นอน.

ขอบคุณที่มาและอ่านต่อ : Facebook At_HeaR ข่าวจริงเข้าหู

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่