อาจารย์จุฬาฯ ชี้เรียนออนไลน์ช่วงโควิดไม่เวิร์ก ได้ผลเฉพาะ ร.ร.ใหญ่ไม่กี่ร้อยแห่ง สิ่งที่เป็นปัญหาคือเวลานักเรียนหลุดจากการเรียนในห้องเรียน มาเรียนออนไลน์ หรือทำใบงานที่บ้าน จะไม่ค่อยมีวินัย ไม่ทุ่มเท และไม่ใช่สมาธิกับการเรียนมากนั้น ซึ่งเรื่องนี้ไม่สามารถแก้ไข หรือติดตามผลได้
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นักเรียนชื่อกลุ่มนักเรียนเลว ได้จัดกิจกรรมขานรับนโยบายการเรียนออนไลน์แบบไร้ประสิทธิภาพ ไร้มาตรฐาน ไร้สาระ ไร้ประโยชน์ และไร้ความรับผิดชอบ ผ่านระบบออนไลน์ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตนมองว่ากลุ่มนักเรียนได้สะท้อนปัญหาการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน ถ้า ศธ.เปิดใจ และเปิดมุมมองรับฟังปัญหา จะพบว่าการเรียนออนไลน์นั้นเกิดประโยชน์ และทำได้จริงเฉพาะโรงเรียนขนาดใหญ่ที่อยู่ในเมือง หรือโรงเรียนที่มีความพร้อม ซึ่งทั่วประเทศอยู่ไม่กี่ร้อยแห่งเท่านั้น ขณะที่โรงเรียนทั่วประเทศอีกกว่าหมื่นแห่ง ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้
“มองว่าการเรียนออนไลน์ไม่ประสบความสำเร็จตามที่กลุ่มนักเรียนเลวนำเสนอจริง และไม่สอดคล้องกับสภาพการศึกษาที่มีความเหลื่อมล้ำกันอย่างมากในปัจจุบัน ผมมองว่าวิธีการเรียนการสอนออนไลน์เป็นวิธีการชั่วคราว เป็นวิธีการประคับประคองปัญหาของ ศธ.เท่านั้น สิ่งเหล่านี้เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หรือเป็นการแก้ไขปัญหาชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น เพราะ ศธ.ยังไม่สามารถใช้การเรียนการสอนออนไลน์ ส่งเสริมให้เกิดคุณภาพการเรียนที่เท่าเทียมกันทั่วประเทศได้ และมองว่าคุณภาพการศึกษาในปี 2564 จะถดถอยลงจำนวนมาก เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้การเรียนการสอนไม่มีประสิทธิภาพ” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวต่อว่า แม้ ศธ.จะออกรูปแบบการจัดการศึกษารองรับไว้ เช่น ถ้าไม่สามารถจัดการเรียนการสอนออนไลน์ได้ ให้ครูส่งใบงานให้นักเรียน และติดตามผลสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นต้น แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือเวลานักเรียนหลุดจากการเรียนในห้องเรียน มาเรียนออนไลน์ หรือทำใบงานที่บ้าน จะไม่ค่อยมีวินัย ไม่ทุ่มเท และไม่ใช่สมาธิกับการเรียนมากนั้น ซึ่งเรื่องนี้ไม่สามารถแก้ไข หรือติดตามผลได้ อย่างไรก็ตาม การให้ใบงาน และการเรียนออนไลน์ ควรจะทำไม่เกิน 1 เดือน เพราะอาจทำให้การศึกษาไม่ได้คุณภาพมากขึ้นกว่าเดิม และ ศธ.ควรคิดหาวิธีที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนให้เด็กแทน ทั้งนี้ เมื่อเชื้อโควิด-19 แพร่ระบาด ศธ.จะกำหนดนโยบายการจัดการศึกษาให้โรงเรียน ซึ่งครู และผู้อำนวยการจะทำงานตามที่ส่วนกลางกำหนดให้เท่านั้น แต่ส่วนกลางไม่เคยเปิดโอกาสให้ผู้บริหารโรงเรียน และครูในแต่ละแห่งมีโอกาสแสดงความคิดเห็น ไม่มีโอกาสที่จะออกแบบการเรียนรู้ ถือเป็นปัญหาใหญ่ของ ศธ.ที่กำหนดนโยบายแบบสั่งให้ทำ ซึ่งค่อนข้างแคบ และไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้
ขอบคุณที่มาและอ่านต่อที่ : เว็บไซต์มติชนออนไลน์ วันที่ 12 มกราคม 2564