ศธ.ร่วมมือ สธ.เตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียน 14 มิถุนายน ภายใต้แนวคิด “ตัดความเสี่ยง สร้างภูมิคุ้มกัน มุ่งมั่นป้องกันโควิดในสถานศึกษา”
(12 มิถุนายน 2564) นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมแถลงข่าวการเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนและแผนเผชิญเหตุกรณีป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ในสถานศึกษา โดยมีผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ บุคลากรทั้งสองหน่วยงาน ตลอดจนสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ ห้องโถงอาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การจัดงานแถลงข่าวในครั้งนี้ขึ้น เพื่อต้องการให้ผู้ปกครอง นักเรียน ครู บุคลากร และสถานศึกษา มีความมั่นใจในการเปิดภาคเรียนอย่างเป็นทางการในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ต้องขอขอบคุณความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เริ่มตั้งแต่ออกมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 รอบที่ 1 รอบที่ 2 จนถึงรอบที่ 3 ในขณะนี้
ในสถานการณ์โควิด 19 กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พยายามให้มีการจัดการรูปแบบการเรียนรู้ เพื่อที่จะให้ผู้เรียนไม่หยุดกระบวนการเรียนรู้ ถึงแม้ว่าสถานการณ์เช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมและทั่วโลกมาก่อน เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้ได้ ซึ่งได้มีการชี้แจงไปแล้วว่าจะมีการเรียนภายใต้ 5 รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ONLINE, ON-AIR, ON-DEMAND, ON-HAND และ ON-SITE แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาเชื่อว่า การเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือ การที่ผู้เรียนและผู้สอนได้มีโอกาสได้ทำกิจกรรมร่วมกัน
ศธ.ได้คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก ภายใต้การเรียนรู้ที่มีความปลอดภัย จึงได้ขอความร่วมมือจากทางกรมอนามัย, ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย, UNICEF และ WHO โดยได้มีการทำแผนร่วมกันในการปฏิบัติการเรียนรู้ภายใต้ความปลอดภัย และทาง สธ.ได้มีคู่มือการเรียนในรูปแบบ ON-SITE ภายใต้การประเมิน Thai Stop Covid Plus 44 ข้อ ที่โรงเรียนหรือสถานศึกษาต้องดำเนินการ ซึ่ง สธ.ได้เข้าไปช่วยเหลือโรงเรียนให้ทำการประเมินให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้น อีกทั้งยังต้องมีการประเมินทั้งครูและนักเรียน ภายใต้แบบประเมิน Thai Save Thai Application โดยมีการกลั่นกรองในหลายรูปแบบ จนกระทั่งมีการอนุญาตให้เปิดการเรียนการสอนภายใต้ 5 รูปแบบดังกล่าว
การเปิดเรียนในวันที่ 14 มิถุนายนนี้ อาจจะมีเหตุการณ์บางอย่างที่เราไม่คาดคิด ศธ.จึงได้มีการตั้งศูนย์กลางให้ความช่วยเหลือเฉพาะกิจ โดยมีปลัด ศธ.เป็นประธาน ร่วมกันรับฟังปัญหาให้กับทุกโรงเรียน ทุกพื้นที่ ที่อาจจะมีเหตุการณ์ที่เกินกำลังที่จะแก้ไข ซึ่งจะได้เชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือแก้ปัญหาในด้านการเรียนการสอนต่าง ๆ ให้มีความปลอดภัยมากที่สุด นอกจากนี้ในเรื่องวัคซีนได้มีการผลักดันมาตลอด เพื่อความปลอดภัยของครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งขณะนี้กำลังทยอยฉีดวัคซีนให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ครบทุกคน
ปลัด ศธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ศธ.มีความตระหนักต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดใหม่ของโรคโควิด 19 และได้เตรียมการอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดแก่นักเรียนนักศึกษา เพื่อให้สถานศึกษาหรือโรงเรียนต่าง ๆ สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามกำหนดการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ตามความเหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยยึดความปลอดภัยของผู้เรียนและผู้สอนเป็นสาคัญ โดยเร่งรัดดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี 25 พฤษภาคม 2564 ซึ่งได้เห็นชอบแผนการให้บริการวัคซีนโควิด 19 โดยครูเป็นกลุ่มเป้าหมายแรก ๆ ในการฉีดวัคซีน
ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 กระทรวงศึกษาธิการ (ศบค.ศธ.) ข้อมูล ณ วันที่ 11 มิถุนายน 2564 ครูทั่วประเทศได้รับวัคซีนแล้ว จำนวน 28,520 คน ส่วนการให้ความช่วยเหลือนักเรียน หรือผู้ปกครอง ที่ประสบปัญหาจากภาวะวิกฤติของโรคโควิด 19 และเตรียมการจัดระบบการเรียนการสอน ให้เป็นไปตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด รวมทั้งการให้ความสาคัญกับนักเรียนในโรงเรียนลักษณะประจำพักนอน ซึ่งสถานศึกษาสำหรับนักเรียนในกลุ่มนี้จะเป็นทั้งโรงเรียนและเป็นเสมือนบ้านของนักเรียน ศธ.จึงร่วมกับกรมอนามัย ในการ SWAB นักเรียนในโรงเรียนเหล่านี้ก่อนการเปิดเรียน เพื่อให้สถานศึกษาสามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างปลอดภัยสูงสุด
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ จากผลการสำรวจอนามัยโพล เรื่อง “ความรู้สึกกังวลต่อสถานการณ์โควิด 19 และการเปิดเรียนเดือนมิถุนายน 2564 ” ในช่วงวันที่ 18-24 พฤษภาคม 2564 พบว่า ประเด็นที่ผู้ปกครองมีความกังวลสูง 3 อันดับแรก ได้แก่ การดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลของครูและนักเรียน ร้อยละ 33.1, การจัดสภาพแวดล้อมในสถานศึกษา ร้อยละ 22.8 และโรงเรียนต้องผ่านเกณฑ์ประเมินความพร้อมของสาธารณสุข ร้อยละ 15.3 โดยสถานศึกษาต้องดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครอง ดังนี้
- สถานศึกษาเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเทอมทุกมิติ ประกอบด้วยความปลอดภัยจากการลดการแพร่เชื้อโรค, การเรียนรู้, การครอบคลุมถึงเด็กด้อยโอกาส สวัสดิภาพ และการคุ้มครอง, นโยบายและการบริหารการเงิน
- ประเมินสถานศึกษาก่อนเปิดเทอม ต้องผ่านทั้งหมด 44 ข้อใน Thai Stop COVID Plus
- ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชนและประชาชนทุกคน ประเมินความเสี่ยง Thai Save Thai ของตนเองก่อนออกจากบ้านทุกวัน
- ยกระดับความปลอดภัย 6 พลัส คูณ 6 มาตรการหลัก มาตรการเสริม และมาตรการเฉพาะ
- 6 พลัส มาตรการหลัก DMHT-RC (อยู่ห่าง สวมแมส หมั่นล้างมือ ตรวจวัดอุณหภูมิ ลดแออัด ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสร่วม)
- 6 มาตรการเสริม SSET-CQ (ดูแลตนเอง ใช้ช้อนส่วนตัว กินอาหารปรุงสุกใหม่ ใช้แอปไทยชนะ คัดกรองทุกคน กักตัวเองเมื่อไปพื้นที่เสี่ยง)
- มาตรการเฉพาะ กรณีรถรับส่งนักเรียน หอพักนักเรียน สถานที่ปฏิบัติศาสนกิจ และเฉพาะความพิการ
- กำกับติดตามประเมินผลร่วมระหว่าง ศธ. และ สธ. สถานศึกษารายงานผลผ่านระบบ MOE (COVID-19)
ในการนี้ รมว.ศึกษาธิการ และคณะ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการและกิจกรรมภายในงาน อาทิ กิจกรรมการตัดความเสี่ยง 3T, กิจกรรมสร้างภูมิคุ้มกัน 2E1V และกิจกรรมมุ่งมั่นป้องกันโควิดอีกด้วย
อนึ่ง ภายในงานได้มีการเสวนาเพื่อแสดงความคิดเห็น เรื่อง “ตัดความเสี่ยง สร้างภูมิคุ้มกัน มุ่งมั่นป้องกันโควิด” โดยนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ได้นำเสนอประเด็นการเตรียมความพร้อมต้อนรับการเปิดภาคเรียนของสถานศึกษา และการปฏิบัติตัวของนักเรียน ตลอดจนครูและบุคลากรทางการศึกษา สำหรับผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้าร่วมเสวนา ได้แก่ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช ผู้ตรวจราชการ ศธ.และโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ, รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อเด็กแห่งประเทศไทย, นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ทำให้ ศธ.ต้องคิดหารูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับแต่ละโรงเรียน เพราะในแต่ละพื้นที่มีการแพร่ระบาดของโรคที่แตกต่างกัน โดยกำหนดการเรียนการสอนเป็น 5 รูปแบบ เพื่อให้มีความเหมาะสมต่อการรับมือกับการแพร่ระบาด คือ 1.ON-SITE เรียนที่โรงเรียน โดยมีมาตรการเฝ้าระวังตามประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) 2.ON-AIR เรียนผ่านมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ หรือ DLTV 3. O์N-DEMAND เรียนผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ 4. ONLINE เรียนผ่านอินเทอร์เน็ต 5.ON-HAND เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร เช่น หนังสือ แบบฝึกหัดใบงาน ในรูปแบบผสมผสาน หรืออาจใช้วิธีอื่น ๆ
โฆษก ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงศึกษาธิการ (ศบค.ศธ.)เพื่อดำเนินการเฝ้าระวัง ติดตามและแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวของเพื่อขอรับการจัดสรรวัคซีนฉีดให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ให้ได้เข้ารับฉีดวัคซีนเป็นลำดับต้น ๆ พร้อมทั้งวางแผนและเตรียมความพร้อมการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กนักเรียนเกิดความปลอดภัยภายใต้มาตรการ ซึ่งในขณะนี้มีโรงเรียนที่เปิดการเรียนการสอนไปแล้วมากกว่าหนึ่งหมื่นแห่ง และยังไม่มีรายงานการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ในโรงเรียน ดังนั้นขอให้ผู้ปกครองเชื่อมั่นสำหรับการจัดการเรียนการสอนในครั้งนี้
รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า แนวโน้มการติดเชื้ออาจจะมีแนวโน้มสูงขึ้นหากควบคุมไม่ดี ถึงแม้จะได้รับวัคซีนแล้วก็ต้องใช้เวลาในการที่จะทำให้ผู้ติดเชื้อลดลง แต่จะสามารถลดอัตราความรุนแรงของโรคได้ ดังนั้นทุกคนยังคงปฏิบัติตัวตามมาตรการของ สธ.อย่างเคร่งครัด ลดความแออัด และทำตัวเองให้มีความเสี่ยงต่ำที่สุด จากข้อมูลพบว่านักเรียนที่ติดเชื้อ ส่วนใหญ่ติดมาจากผู้ปกครองและคนในครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ มาจากคลัสเตอร์ในโรงเรียนน้อยมาก ซึ่งกรมอนามัยมีการวางแผนไว้ หากเป็นพื้นที่สีแดงเข้มเน้นเรียนออนไลน์และทางไกล แต่บางจังหวัดอาจมีบางอำเภอที่เสี่ยงต่ำ ก็อาจจะสามารถเปิดเรียนปกติได้ แต่ต้องนำเสนอคณะกรรมการควบคุมโรคในจังหวัดเพื่อพิจารณาต่อไป
ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การปิดเรียนอาจจะไม่ได้ช่วยให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ดีขึ้น เพราะโรงเรียนไม่ใช่แหล่งแพร่เชื้อ และไม่เคยมีรายงานว่าเด็กเป็นซุปเปอร์สเปรดเดอร์ เนื่องจากเด็กที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ติดมาจากผู้ปกครอง และที่สำคัญเด็กเล็กจะมีภูมิคุ้มกันสูงสำหรับเชื้อชนิดใหม่ ๆ การหยุดเรียนทำให้ผลเสียจำนวนมาก ดังนั้นหากมีวิธีการป้องกันที่ดีจะทำให้เด็กมีโอกาสติดเชื้อน้อยมาก นอกจากนี้การเรียนออนไลน์ถือว่าเป็นการปิดกั้นและทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เนื่องจากยังมีเด็กจำนวนมากที่ยังขาดอุปกรณ์สำหรับการเรียนในรูปแบบดังกล่าว