‘ตรีนุช’ ยืนยัน เปิดภาคเรียน 14 มิ.ย. เป็นหลัก เปิดโอกาส ‘พร้อมก่อน เปิดก่อนได้’

‘ตรีนุช’ ยืนยัน เปิดภาคเรียน 14 มิ.ย. เป็นหลัก เปิดโอกาส ‘พร้อมก่อน เปิดก่อนได้’

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ที่ Facebook เพจ ตรีนุช เทียนทอง ได้เผยแพร่โพสต์เกี่ยวกับการเปิดเรียนภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2564  ดังนี้

หลังจากประกาศให้กำหนดวันเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 ขึ้นใหม่ เป็นวันที่ 14 มิถุนายน 2564 นั้น ดิฉันพบว่า หลายท่านยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนกับข้อเท็จจริงที่เกิดจากการนำเสนอข้อมูลของหลายแห่ง ซึ่งดิฉันขอเรียนแจ้งทุกท่านให้มีความมั่นใจตรงนี้ว่า ในขณะนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้มีการตั้ง ‘ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงศึกษาธิการ (ศบค.ศธ.)’ โดยจะเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลข่าวสารและประเด็นปัญหาจากการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดฯ รวมทั้งจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเสนอ ศบค. ชุดเล็ก เพื่อพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ซึ่งจะสนับสนุนให้การดำเนินงานของเรามีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้นค่ะ ทั้งนี้ การพิจารณาเลื่อนเปิดเทอมของสถานศึกษาเป็นไปตามมาตรการป้องกันการควบคุมโรคตามระดับพื้นที่สำหรับสถานศึกษา ซึ่งแบ่งเขตพื้นที่ตามระดับความรุนแรงของการแพร่ระบาดฯ 3 ระดับ ได้แก่ พื้นที่สีแดงเข้ม พื้นที่สีแดง และพื้นที่สีส้ม

ส่วนประเด็นเรื่องวันเปิดภาคเรียนเป็นวันที่เท่าไหร่นั้น ดิฉันขอแจ้งให้ทุกท่านทราบตรงกันเลยนะคะว่า ‘สถานศึกษาทุกแห่งจะต้องเปิดภาคเรียนในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 เป็นหลัก’

อย่างไรก็ตาม เฉพาะสำหรับสถานศึกษาที่มีความพร้อมและมีความประสงค์ที่จะเปิดให้มีการเรียนการสอนก่อนวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ก็สามารถเปิดทำการได้ โดยจะต้องปฏิบัติตามรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่กระทรวงกำหนดและมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่ดครัด

ดิฉันเข้าใจเป็นอย่างดีว่า ทุกท่านมีความห่วงใยเกี่ยวกับการเปิดภาคเรียนไม่ตรงกัน แต่ดิฉันอยากเรียนชี้แจงว่า สถานศึกษาแต่ละแห่งมีความพร้อมและความจำเป็นในการเปิดภาคเรียนแตกต่างกัน ทางกระทรวงศึกษาธิการก็ต้องคำนึงถึงบริบทและปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเปิดภาคเรียนในทุกมิติให้ครบถ้วนรอบด้านเช่นกัน โดยสถานศึกษาที่อยู่ในเขตพื้นที่เสี่ยงสูง เราจะต้องพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลต่อความปลอดภัยเป็นสำคัญ แต่สถานศึกษาที่อาจอยู่ในเขตพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบหรือมีความพร้อมในการเปิดภาคเรียน เราจะพิจารณาถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การเข้าถึงอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนในพื้นที่ชนบท โอกาสในการเรียนรู้ ความพร้อมของผู้ปกครองในการดูแลเลี้ยงดูบุตรหลานหากต้องพาไปสถานที่ทำงาน ฯลฯ ซึ่งการพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องนี้ ทำให้เราเปิด ‘ทางเลือก’ สำหรับสถานศึกษาที่อยู่ในบริบทดังกล่าว

นอกจากนี้ เมื่อมีการเปิดภาคเรียนแล้ว ทางกระทรวงได้จัดเตรียมแนวปฏิบัติของสถานศึกษาในการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะกับข้อจำกัดด้านความปลอดภัยไว้ด้วยเช่นกัน โดย ‘สถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม’ จะสามารถดำเนินการได้เพียง 4 รูปแบบเท่านั้น ห้ามให้มี On Site อย่างเด็ดขาดตามมติของ ศบค. และในกรณี On Hand ต้องส่งทางไปรษณีย์ และ ‘สถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่สีแดงและสีส้ม’ จะสามารถเลือกรูปแบบได้ 5 รูปแบบตามความเหมาะสม โดยอาจจัดให้มีการผสมผสานรูปแบบได้ ทั้งนี้ หากต้องการใช้รูปแบบ On Site นั้น สถานศึกษาดังกล่าวจำเป็นต้องผ่านเงื่อนไขการอนุญาตดำเนินการ ดังนี้

1. สถานศึกษาจะต้องผ่านการประเมินความพร้อมของระบบ Thai Stop Covid Plus (TSC+) ใน 6 มิติ จำนวน 44 ข้อ (ตามลิ้งก์ https://tsc.anamai.moph.go.th/public/workflow.php…)

2. หลังจากผ่านการประเมินครบ 44 ข้อแล้ว สถานศึกษาจะต้องขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเพื่อขอใช้พื้นที่ของสถานศึกษาสำหรับจัดการเรียนการสอน

สุดท้ายนี้ ไม่ว่าสถานการณ์ในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ดิฉันจะคอยติดตามและปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานอย่างเต็มที่ โดยพิจารณาหา ‘จุดร่วม’ ของทุกฝ่ายอย่างเหมาะสมที่สุด และขอยืนยันกับทุกท่านว่า จะมีการประเมินความพร้อมของการจัดการเรียนการสอนอยู่เป็นระยะ หากเกิดสถานการณ์ที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของเพื่อนครู ผู้เรียน และผู้ปกครอง เราจะต้องหาแนวทางใหม่ที่เหมาะสมสำหรับทุกคนอย่างแน่นอน#ตรีนุชเทียนทอง

ขอบคุณที่มาเพจ : Facebook ตรีนุช เทียนทอง

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่