เพิ่มทักษะโค้ดดิ้ง ปั้นมนุษย์ไอที รับตลาดแรงงานปี’65

เพิ่มทักษะโค้ดดิ้ง ปั้นมนุษย์ไอทีรับตลาดแรงงานปี’65

ต้องยอมรับว่าแนวโน้มตลาดแรงงานทั่วโลกในปัจจุบัน ล้วนใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทั้งยังมีการใช้ big data และ cloud เข้ามามีบทบาทสำคัญ

เพราะจากรายงานของ World Economic Forum (WEF) บอกว่า ภายในปี 2565 สัดส่วนการทำงานร่วมกันของมนุษย์และเครื่องจักร และระบบอัลกอริทึม จะอยู่ที่มนุษย์ 58% เครื่องจักร 42% ซึ่งชี้ให้เห็นว่าโลกแห่งการทำงานต่อไปต้องการคนทำงานที่มีทักษะชุดใหม่

โดยเฉพาะทักษะที่เกี่ยวข้องกับการสร้างนวัตกรรม และประยุกต์ใช้เทคโนโลยี โดยทักษะด้านการโค้ดดิ้งจัดเป็น 1 ใน 10 ที่ต้องการสูงสุดระดับประเทศ และระดับโลก

“นาถ ลิ่วเจริญ” ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทซีดีจี ผู้ก่อตั้งโครงการ CDG Code Their Dreams กล่าวว่า แม้เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อตลาดแรงงานทั้งในวันนี้ และอนาคต มนุษย์ยังคงเป็นกุญแจสำคัญของการขับเคลื่อนในสิ่งต่าง ๆ ดังนั้น มนุษย์จะต้องยอมรับและตื่นตัว รวมถึงต้องไม่นิ่งดูดายที่จะลุกขึ้นมาพัฒนาตัวเอง พร้อม ๆ กับร่วมมือพัฒนาเยาวชนไทยที่จะเป็นแรงงานในอนาคตให้เหนือกว่าเทคโนโลยี เพราะจะทำให้เกิดทักษะใหม่ ๆ ที่เป็นอาวุธสำคัญ จนทำให้เด็กไทยสามารถอยู่รอดได้ในยุคสมรภูมิดิจิทัล ผลเช่นนี้ การผนึกกันระหว่างแรงงานมนุษย์ และปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จะเป็นทางออกที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อการอยู่รอดและความสำเร็จในโลกแห่งดิจิทัล

“ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทซีดีจีผู้ให้บริการด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจรแก่องค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ผู้ก่อตั้งโครงการ CDG Code Their Dreams จึงร่วมมือกับภาควิชาคอมพิวเตอร์ศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ จัดทำโครงการ CDG Code Their Dreams : Public Training หลักสูตรการสอนทักษะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และการประยุกต์ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ และเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์”

เพิ่มทักษะโค้ดดิ้ง ปั้นมนุษย์ไอทีรับตลาดแรงงานปี’65 2

“โดยจะถ่ายทอดการเรียนการสอนด้านโค้ดดิ้งและทักษะด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์อื่น ๆ ให้กับนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ และบุคคลทั่วไป โดยเน้นการพัฒนาการเรียนรู้ด้านภาษาคอมพิวเตอร์ และเตรียมความพร้อมเชิงดิจิทัล เพื่อนำไปใช้ในการเรียนการสอน และปูความพร้อมแก่นักศึกษาจนสามารถนำไปใช้ในการทำงานได้จริง เพื่อรองรับความต้องการของตลาดในอนาคต”

“ฐิติพงศ์ ธรรมวิสุทธิ์” นักศึกษาปริญญาโท หนึ่งในวิทยากรโครงการ CDG Code Their Dreams : Public Training เปิดมุมมองในฐานะผู้ถ่ายทอดการเรียนการสอนโค้ดดิ้งบอกว่าต้องยอมรับว่าคนยุคนี้เกิดมาในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเทคโนโลยีต่างเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญของการใช้ชีวิต การพัฒนาศักยภาพ และความรู้ รวมถึงกระบวนการคิด เพื่อให้สามารถออกแบบการทำงาน และควบคุมการทำงานด้วยเทคโนโลยี จำกัดความให้เข้าใจง่าย ๆ คือ คนยุคใหม่ต้องรู้จักใช้เทคโนโลยีมาเพิ่มศักยภาพการทำงาน ยิ่งเครื่องจักรพัฒนาเร็วเท่าไหร่ เรายิ่งต้องปรับตัวให้เร็วขึ้นเท่านั้น

“แต่สิ่งสำคัญที่สุดในการปรับตัว คือ การปลี่ยนมุมมองของเราที่มีต่อระบบอัตโนมัติ จากที่เคยมองว่าเครื่องจักรเป็นภัยคุกคาม และจะเข้ามาแทนที่มนุษย์ จะต้องเปลี่ยนมุมมองว่า ระบบอัตโนมัติเป็นเครื่องมือ หรือสิ่งที่เข้ามาช่วยสนับสนุนต่อยอดงานเรา รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์ โดยการเรียนโค้ดดิ้งในโครงการ CDG Code Their Dreams : Public Training ครั้งนี้ คือ หลักการคิดอย่างเป็นลำดับขั้นตอน ซึ่งนำไปสู่การแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ และจากการทำ workshop ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจการป้อนคำสั่งด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ การเขียนโค้ดที่ถูกต้อง และการสร้างผลงานด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ เช่น scratch หรือ thunkable ถือเป็นตัวฝึกฝนที่ดีสำหรับผู้เรียนหลักสูตรนี้”

“ผศ.ดร.กฤช สินธนะกุล” หัวหน้าภาควิชาคอมพิวเตอร์ศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า วัตถุประสงค์ของโครงการนี้มุ่งเน้นปูพื้นฐานด้านโคดดิ้ง หรือการเขียนภาษาคอมพิวเตอร์ โดยจะถ่ายทอดการเรียนการสอนด้านโค้ดดิ้งให้กับนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ และบุคคลทั่วไป โดยมีเป้าหมายให้ผู้ที่รับความรู้ สามารถนำไปถ่ายทอดต่อในการเรียนการสอน รวมทั้งปูความพร้อมแก่นักศึกษาเพื่อนำไปใช้ในการทำงานได้จริง อาทิ โปรแกรม scratch, หุ่นยนต์ถอดประกอบ mBot, โปรแกรม thunkable สำหรับสร้าง application, สติ๊กเกอร์ Line ในปีที่ผ่านมา

“แต่ในปีนี้จะมีภาษาคอมพิวเตอร์ python, วิธีการทำ motion graphic, วิธีการประดิษฐ์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้อินเทอร์เน็ตในการทำงาน IOT smart building เพิ่มเติมจากของปีที่แล้ว ที่สำคัญ ในปี 2563 เราตั้งเป้าสอนทั้งหมด 30 คอร์ส โดยจุดเด่นของหลักสูตร คือ รูปแบบการเรียนการสอนที่เข้าใจง่าย เป็นขั้นเป็นตอน มีกิจกรรมที่สามารถสร้างความเข้าใจ ทำตาม และเห็นผลจริง ประยุกต์ใช้ได้ สามารถถ่ายทอดต่อได้ จึงทำให้ในปีที่ผ่านมา โครงการได้สร้างครู อาจารย์ รวมถึงบุคลากรด้านโค้ดดิ้ง เพิ่มมากกว่า 200 คน และคาดว่าในปีนี้จะมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการอีกกว่า 1,000 คน”

“หัวใจสำคัญของการพัฒนาบุคลากรยุคนี้ คือ การรู้เท่าทันเทคโนโลยี และต้องลงมือทำเองเป็น โดยมีสมรรถนะในวิชาชีพนั้น ๆ ครบทั้ง 3 ด้าน คือ ความรู้, ทักษะ และเจตคติในอาชีพนั้น ๆ โดยการเรียนด้านโค้ดดิ้งจะเข้าไปช่วยจุดประกายให้เกิดกระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล พัฒนาต่อยอดสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างสร้างสรรค์ เนื่องจากแต่ละขั้นตอนในการเขียนโค้ด ผู้เรียนจะได้เรียนรู้กระบวนการวางแผน ฝึกกระบวนการคิด และลงมือทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทั้งยังมีประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย”

จึงนับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจ เพิ่มทักษะโค้ดดิ้ง ปั้นมนุษย์ไอทีรับตลาดแรงงานปี’65 เพราะไม่เพียงเป็นการเพิ่มทักษะความรู้ใหม่ ๆ ให้กับตัวเอง หากยังนำสิ่งที่ได้จากการเรียนไปรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับกระบวนการเรียนการสอน และการทำงานในอนาคตต่อไปด้วย

ขอบคุณที่มา : https://www.prachachat.net/education/news-423813

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่