เลขาธิการคุรุสภา แจงเหตุยกเลิกการทดสอบวิชาเอกตั๋วครูภาควิชาการ
เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 ดร.ดิศกุล เกษมสวัสดิ์ ได้ชี้แจงกรณี การยกเลิกการทดสอบวิชาเอก เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ผ่าน Facebook ดร.ดิศกุล เกษมสวัสดิ์ รายละเอียดดังนี้
ระยะนี้มีผู้หวังดีต่อการศึกษาชาติสายนักวิชาการบางท่านจะผุดบังเกิดออกกันมาวิพากษ์วิจารณ์การยกเลิกการสอบวิชาเอกในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูของคุรุสภากันไปต่างๆนานาตามทัศนะคุณค่าแห่งตน จากคนที่เสพข้อมูลจากมโนของตนเองที่มิได้ศึกษาบริบทอย่างรอบด้านของผู้ที่ผ่านประสบการณ์บริหารจัดการภาคปฏิบัติ เมื่อไม่รู้แน่ชัดก็ด่วนสรุปแบบ jump conclusion ที่สำคัญคือใช้วาทกรรมไปละเมิดผู้อื่นหรือผู้ที่มองเห็นต่าง ทำให้สร้างบรรยากาศความก้าวร้าวทางวิชาการที่เป็นมิจฉาทิฐิ ขาดสติปัญญาอันแท้จริง ทุกสรรพสิ่งย่อมมีเหตุปัจจัยหากใช้สติปัญญาและใจที่เป็นธรรมปรารถนาดีอย่างเป็นกลาง ยอมรับความแตกต่างก็จะเกิดความสร้างสรรค์ทางวิชาการที่ไปกันได้ จึงขอให้ใคร่ครวญคิดพิจารณา อะไรคือปัญหาที่แท้จริงอะไรคือสิ่งที่บิดเบือนไป การใส่ความคิดของตนและปล่อยข่าวออกไป เช่นในกระแสว่า “บอร์ดคุรุสภามีนักการเมืองนั่งหัวโต๊ะและมีธงให้ไม่สอบวิชาเอก “ เริ่มจากนักวิชาการบางท่านคิดและเข้าใจไปเองว่านักการเมืองเข้ามาครอบงำกรรมการคุรุสภา โดยไม่ได้หาข้อเท็จจริง ทั้งที่เรื่องนี้สามารถสอบถามกรรมการคุรุสภาทุกคนได้ว่าการพิจารณาของคณะกรรมการคุรุสภายึดหลักการพิจารณาเหตุของปัญหา และหาทางออกที่เหมาะสมกับเหตุปัจจัย ไม่มีการเมืองมาชี้นำ บอร์ดจึงมีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการชุดหนึ่งจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นคนกลางไปศึกษาให้ได้ข้อสรุปมาเพื่อให้บอร์ดตัดสินใจ ผมยืนยันได้ว่าไม่มีการเมืองแน่นอน จะย้อนไปฟังเสียงบันทึกการประชุมทุกครั้งก็ยังได้ จึงขอสร้างความเข้าใจแก่ท่านทั้งหลายให้หยุดการอ้างอิงสร้าง fake news กันเสียที ไม่มีการเมืองจากนักการเมือง แต่เป็นเรื่องในหมู่นักวิชาการเอง ผ่านการปลุกระดมหาแนวร่วมให้บุคคลในเครือข่ายให้เห็นด้วยกับแนวคิดทิศทางของตนบนความคิดอคติกับนักการเมืองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ขอให้ทุกท่านผู้เจริญใช้หลักกามาลสูตรที่ พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ “(หนึ่ง) ฟังตามกันมาอย่างเพิ่งเชื่อ (สอง)ทำกันทุกเมื่อเชื่อไม่ได้ (สาม) ตื่นข่าวป่าวมาอย่าเชื่อไป (สี่ ) อย่าไว้ใจแม้แต่ตำรา (ห้า) อย่าเชื่อเพราะเดาเอาเองเล่น (หก) กะเกณฑ์คาดคะเนไว้ล่วงหน้า (เจ็ด) เพราะนึกตรึกตรองหรือตรวจตรา (แปด) เพราะว่าต้องตามธรรมเนียมตน (เก้า) อย่าเชื่อเพราะเพื่อควรเชื่อเขา (สิบ) ครูเราแท้แท้มาแต่ต้น ก็จักเชื่อได้น้ำใจคน จงเชื่อผลเชื่อเหตุสังเกตเทอญ “
การทดสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูนั้นเป็นความพยายามมาหลายปี พอจะมีความสำเร็จในการทดสอบวิชาพื้นฐานอื่นๆ ซึ่งได้รับการยอมรับสู่การปฏิบัติได้ แต่การรีบตัดสินใจให้สอบวิชาเอกด้านความรู้นั้นทำไปโดยยังไม่มีความพร้อมยังไม่เป็นที่ยอมรับจากผู้เกี่ยวข้อง ก็ต้องทบทวนเมื่อพบหลุมดำอยู่เบื้องหน้าอาจจะเดินเข้าไปสู่ความหายนะในบทบาทของผู้นำองค์กรควรจะถอยมาตั้งหลักให้มั่นและพากันหาเส้นทางใหม่ ต้องศึกษาให้มีความเข้าใจชัดเจน “ไม่ครบไม่ซ้อม ไม่พร้อมไม่รบ” มองอย่างเป็นระบบและเป็นไปได้ ไม่ให้เกิด Mission Impossible
ในมุมมองทางวิชาการการสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูนั้นมีความจำเป็นในการคัดกรองผู้ประกอบวิชาชีพครู ซึ่งกำหนดให้สอบ 5 วิชา ได้แก่ การใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา วิชาชีพครู และวิชาเอก แต่เมื่อนำสู่การปฏิบัติพบข้อจำกัดในการจัดสอบวิชาเอก(ด้านความรู้) มากมายบานปลายไปสู่การฟ้องร้องในศาล และการบริหารจัดการอันยังไม่อาจบรรลุตามเจตนารมณ์ได้ในการบังคับใช้กฏหมายที่ยังไม่เป็นที่ยอมรับจากผู้เกี่ยวข้อง เสียงสะท้อนจากบรรดาผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และผู้ได้รับผลกระทบ ทำให้คณะกรรมการคุรุสภาต้องฟัง สู่การตั้งคณะอนุกรรมการกลางมากหาแนวทางที่เหมาะสม ที่ต้องใช้ทั้งหัวคิดและใจคิดอย่างรู้ตัวทั่วพร้อม
วัตถุประสงค์การสอบวิชาเอกด้านความรู้ เพื่อให้ได้คนเก่งเนื้อหาเข้าไปสอนเนื้อหาเพื่อให้มั่นใจได้ว่าครูมีความเชี่ยวชาญในเนื้อหา หวังว่าครูที่ผ่านข้อสอบวิชาเอกจะไปทำให้การศึกษาไทยมีคุณภาพโดยใช้การทดสอบของคุรุสภาเป็นยาหม้อใหญ่ในการเยียวยาปัญหาคุณภาพการศึกษา แต่ทว่าการสอนเก่งไม่สามารถวัดจากข้อสอบปรนัยได้ ต้องไปวัดจากการปฏิบัติการสอนจริง Competency ไม่ใช่การสอบเก่งหากแต่เป็นการสอนเก่ง
แท้จริงแล้วปัญหาคุณภาพการศึกษาซับซ้อนและใหญ่กว่าการคิดแบบใช้สมการชั้นเดียว ต้องคิดทั้งระบบมองให้รอบด้านอย่างอิทัปปัจจยตา ระบบการได้มาซึ่งครูที่มีคุณภาพจะต้องควบคุมคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำยังปลายน้ำ ต้นน้ำคือสถาบันผลิตครู รัฐสามารถควบคุมให้ทุกแห่งผลิตครูอย่างมีคุณภาพได้ไหม และผลิตในจำนวนที่สัมพันธ์กับความต้องการใช้ของหน่วยใช้ ปลายน้ำคือหน่วยงานผู้ใช้ครูมีการคัดเลือกครูที่มีคุณภาพด้วยกระบวนการทดสอบอย่างมีความเที่ยงตรงและความเชื่อมั่นว่าได้คนที่เก่งในเนื้อหาวิชา และสามารถไปพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จัดให้สอนตรงกับวิชาเอก
แต่ในระบบการศึกษาที่เป็นจริงสิ่งที่เราเรียกว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังเป็นปัญหาที่เราไม่อาจไปจัดการให้ลงตัวได้ในทางทฤษฎี ครูที่เราใช้วิธีสอบคัดเลือกไปจากการสอบรุ่นแล้วรุ่นเล่าที่เราใช้แบบสอบวัดความรู้คัดครูที่เชื่อว่ามีคุณภาพไปแล้วทำไมยังไม่สามารถแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาได้ ในขณะที่โรงเรียนยังมีปัญหาครูสอนไม่ตรงเอกอีกมากมาย ในบริบทแห่งความเป็นจริง การใช้เพียงสิ่งที่เรียกว่าข้อสอบวิชาเอกของคุรุสภาจะสร้างความมั่นใจได้เพียงใดว่าครูคนนั้นจะไปทำให้การศึกษามีคุณภาพอย่างมีนัยสำคัญ ในเมื่อปัจจัยสำคัญแห่งคุณภาพนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ลำพังเพียงคุรุสภาคงไม่ใช่จะไปแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาได้ในบทบาทหน่วยคัดกรองโดยใช้ตะแกรงอย่างเข้มข้นเกินความพอดี ทั้งๆที่หน่วยใช้ก็ต้องไปสอบแข่งขันเลือกคนที่เก่งเนื้อหาอยู่แล้ว การไม่นำเงื่อนไขการสอบวิชาเอกไปเป็นเงื่อนไขการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูจึงไม่มีผลต่อการทำให้การศึกษาของชาติตกต่ำลง
เหตุผลมากมายที่ไม่จำเป็นต้องทดสอบวิชาเอกด้านความรู้ เพราะดูถึงความคุ้มค่า ความซ้ำซ้อน การใช้กฏหมายที่อาจไม่เป็นธรรม การสกัดกั้นสร้างภาระแก่ผู้ประสงค์ขอรับใบอนุญาตมากเกินไป สู่ความเป็นไปได้ดังนี้
1. มีการทดสอบอื่น ๆเป็นหลักประกันคุณภาพของผู้เข้าสู่วิชาชีพครู ได้แก่การจบหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษา (Exit Exam ) และ การสอบแข่งขัน การคัดเลือกในการบรรจุ
2. ลดภาระงบประมาณของประเทศ จากการทดสอบมีความซ้ำซ้อน ทั้งจากระหว่างศึกษา สอบขอรับใบอนุญาต และสอบบรรจุ ทดสอบมากไปพิจารณาความคุ้มค่างบประมาณของประเทศชาติ งบประมาณที่ใช้ในการทดสอบในรอบแรก จำนวนผู้สมัครสอบ 7,000 คน ต้องใช้งบประมาณจ้าง สทศ.สร้างข้อสอบและดำเนินการสอบถึง 32 ล้านบาทซึ่งส่วนใหญ่ใช้ไปกับค่าใช้จ่ายวิชาเอกกว่า 90 % สำหรับการสอบครั้งต่อไปใช้ฐานการคิดผู้สมัครเข้าสอบ 30,000 คน ซึ่งรอบนี้มีวิชาเอกมากขึ้น ต้องใช้งบประมาณถึง 80 ล้านบาท ประกอบกับในปีงบประมาณ 2565 สำนักงบประมาณแจ้งตัดงบประมาณสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาไปกว่า 50 ล้านบาท จากสภาพความจำเป็นสภาวะงบประมาณของประเทศชาติ หากจะยังคงจะสอบวิชาเอกให้ได้ก็ต้องเก็บเงินเพิ่มจากค่าสมัครสอบมาดำเนินการสอบซึ่งเป็นการเพิ่มภาระแก่ประชาชนเกินความจำเป็น ซึ่งไม่เกิดผลดีอย่างแน่นอน และไม่ควรกระทำในสถานการณ์ความอ่อนไหวเช่นนี้
ในการสร้างข้อสอบอย่างมีมาตรฐานของ สทศ. ต้องสร้าง 2 ฉบับ ข้อสอบ 1 ฉบับ จะมี 3 ฉบับคือฉบับภาษาไทย ฉบับภาษาอังกฤษ และฉบับสร้างเป็นภาษาเบรล ซึ่งภายในระยะเวลาอันสั้นไม่สามารถจะดำเนินการให้ลุล่วงได้
3. สภาวิชาชีพอยู่ตรงกลางระหว่างผู้ผลิตกับผู้ใช้ ควรมีความเข้มข้นในการสอบคราวนี้ระดับไหน ไม่ใช่การสอบแข่งขัน ผู้ใช้มีดุลพินิจในการกลั่นกรองในกระบวนการคัดเลือกอีก
4.โลกปัจจุบันนี้มีการข้ามพรมแดนทางวิชาการไม่ได้แปลว่าคนที่รู้ศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง ยิ่งเราไป Specific ลงไปลึกๆ เวลานี้ต้องการสหสาขาวิชามากขนาดนั้นเลยหรือต่อไปการเรียนการสอนพ้นโควิด มันกำลังจะต้องเปลี่ยนแนวอะไรบางอย่าง การที่สอนเป็นกล่อง ๆ ว่าถ้าท่านสอนวิชานี้ก็ต้องวิชานี้ อาจจะไม่ตอบโจทย์อะไรสำหรับการพัฒนาการศึกษาในวันข้างหน้า
5. ค่าใช้จ่ายนอกจากคุรุสภาแล้ว ค่าใช้จ่ายส่วนของผู้ต้องเข้าสู่สนามสอบก็มีเป็นภาระเพียงไรแค่ไหนหรือไม่อย่างไร
6. การสอบภาษาไทย อังกฤษ เทคโนโลยีดิจิทัล และวิชาครู น่าจะพอเหมาะสมสำหรับการที่คุรุสภาจะสร้างตะแกรงแล้วหามาตรฐานตรงนี้
7. การลงลึกไปสอบวิชาเอกต่างๆเถียงกันไม่รู้จบ วิชาเอกเปลี่ยนแปลงทุกปี คนสอบก็เหนื่อย ควรปล่อยเรื่องนี้ให้เป็นของสถานศึกษาไปคงไม่สามารถหา one size fit all ได้ คุรุสภาเป็นตะแกรงร่อนหามาตรฐาน ที่สมน้ำสมเนื้อ ผู้ใช้ ภาครัฐ เอกชนและอื่นๆ แม้ภาครัฐเองก็มีความหลากหลายของตัวเอง ยังมีการศึกษาอีกหลายรูปแบบ เราควรรับรองมาตรฐานจะสอบตำแหน่งครู จะสอนวิชานี้ต้องไปสอบสอนต้องมีความเฉพาะเจาะจงก็ให้ผู้ใช้
8.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเราเป็น general ไม่ได้ระบุสาขา เป็น Core Standardดังนั้นหากจะสอบวิชาเอกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูต้องระบุวิชาเอก
9. การกำหนดวิชาเอก ครั้งต่อไป ต้องกำหนดวิชาเอกจำนวนมาก ในอนาคต สถาบันผลิตครูมีวิชาเอกใหม่ๆเพิ่มขึ้น ผลกระทบจัดหา งปม.ดำเนินการสอบมากขึ้นกระทบต่อ งปม ความคุ้มค่าบางวิชาเข้าสอบจำนวนน้อยมากก็ต้องสอบแม้จะมีการเทียบเคียงความรู้ที่สถาบันอื่นรับรองอยู่แล้วก็ยังไม่สามารถเทียบได้หลากหลายยังคงต้องใช้แบบทดสอบจำนวนมากอยู่ดี เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำต้องทดสอบทุกวิชาในความเป็นธรรมและเท่าเทียมจะละเว้นบางวิชาไม่ได้ ความรู้เปลี่ยนแปลงตลอดตามธรรมชาติวิชาเอกต่างๆ การสร้างผังข้อสอบในอนาคต ผู้เขัาสอบมีความหลากหลาย ทั้งกลุ่มเรียน ป.บัณฑิต ป.โท มีทั้งเป็นครู ครูผู้ช่วย บุคคลที่สนใจประกอบวิชาชีพครู ครูสอนไม่ตรงวิชาเอก คุณวุฒิ ป.ตรี มีความหลากหลาย ตราบใดที่วิชายังไม่นิ่ง และเป็นที่ยอมรับกันถ้วนทั่ว กว้างขวางทั้งสถาบันผลิตครู หน่วยงานผู้ใช้ครู และผู้ประสงค์ประกอบวิชาชีพครู ก็จะยังคงก่อปัญหาคดีความกันไปอย่างไม่สิ้นสุด
ดังนั้น การที่คุรุสภา จะหยุดทบทวน วางระบบ ลบช่องว่าง จึงมีความจำเป็นที่ต้องถอยมา 1 ก้าว เพื่อก้าวกระโดดไปอย่างยั่งยืน ระหว่างนี้จะมีการทำการวิจัยสถาบัน (Institutional Research ) กฏหมายสำคัญหลายๆเรื่องจะต้องแก้ไขใหม่ให้เหมาะสมกับบริบทแห่งการเปลี่ยนแปลงแห่งโลกในอนาคต
ขอบคุณที่มา : Facebook ดร.ดิศกุล เกษมสวัสดิ์