เสมา2 ย้ำใช้ Coding For Farm ใน "โครงการ 1 ไร่ 1 แสน" สร้างต้นแบบอาชีวะเกษตรฯ ช่วยแก้จน และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร

เสมา2 ย้ำใช้ Coding For Farm ใน “โครงการ 1 ไร่ 1 แสน” สร้างต้นแบบอาชีวะเกษตรฯ ช่วยแก้จน และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร

เสมา2 ย้ำใช้ Coding For Farm ใน "โครงการ 1 ไร่ 1 แสน" สร้างต้นแบบอาชีวะเกษตรฯ ช่วยแก้จน และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร
เสมา2 ย้ำใช้ Coding For Farm ใน “โครงการ 1 ไร่ 1 แสน” สร้างต้นแบบอาชีวะเกษตรฯ ช่วยแก้จน และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร

เมื่อวันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม 2563 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อนนโยบายการบริหารจัดการศึกษา ของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ โดยมี นายศุภชัย ศรีหล้า ที่ปรึกษาและประธานคณะทำงานติดตามและแผนงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ที่ปรึกษาและประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบายรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายชาติชาย เกตุพรหม ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษา เกษตรกรรมและประมง นายศักดิ์ชัย คุณานุวัฒน์ชัยเดช ปลัดจังหวัดลำพูน นายวัชรพงศ์ ฝั้นติ๊บ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ สถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ1 เข้าร่วม

– วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน

เมื่อเวลา 9.00 น. รมช.ศึกษาธิการ และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน เป็นจุดแรก โดยมี นายแสวง ทาวดี ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน บุคลากรทางการศึกษา และนักศึกษา ให้การต้อนรั

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน เป็นหนึ่งในวิทยาลัยต้นแบบนำร่อง ในโครงการ 1 ไร่ 1 แสน ซึ่งเกิดจากแนวนโยบายของ ศธ. ที่มอบหมายให้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี และวิทยาลัยประมงทั่วประเทศ เป็นต้นแบบในการทำโครงการดังกล่าว โดยได้พัฒนาแนวคิดมาจากการทำเกษตรกรรมแบบปราณีต เพื่อให้เกษตรกรพออยู่พอกิน และสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข ซึ่งในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่ จึงจะต้องเน้นการผลิตแบบพึ่งพาตนเอง ทำการผลิตที่มีความหลากหลายเพื่อการบริโภคที่เพียงพอภายในครอบครัว ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ด้านการผลิต และเมื่อผลผลิตเหลือจากการบริโภคในครัวเรือนแล้ว ยังสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ส่งผลให้ประชาชนมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้อีกด้วย ดังนั้นจึงต้องเน้นการปลูกความคิดให้เกษตรกรอย่างเป็นระบบ อาทิ การเพาะปลูก การเพาะเลี้ยง การแปรรูปผลผลิต และการจัดจำหน่าย เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้สม่ำเสมอ และสร้างเกษตรกรให้มีความรู้และทักษะ โดยการวางแผนการทำงาน และการปฏิบัติงาน โดยนำหลักการเรื่อง Coding มาปรับใช้ในการทำเกษตรกรรม ที่เรียกว่า Coding For Farm เพื่อให้เกิดกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

“การทำเกษตรโครงการ 1 ไร่ 1 แสน เป็นการทำการเกษตรในพื้นที่ค่อนข้างจำกัด จึงต้องมีการคิดอย่างเป็นระบบ มีการวางแผน เช่น ภายในระยะเวลา 3 วัน 7 วัน จะเพาะพันธุ์พืชชนิดใด ที่สามารถจะขายได้ทุกวัน หรือระยะเวลา 3 วัน 5 วัน 7 วัน 30 วัน จะเลี้ยงสัตว์ชนิดใด จึงจะสามารถขายได้ทุกวัน ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะแสดงให้เห็นว่า การที่เกษตรกรจะเลือกเพาะปลูก หรือเลี้ยงสัตว์ชนิดใดนั้น จะต้องการวางแผนทั้งในการคัดเลือกพันธ์ุพืช พันธุ์สัตว์ การนำผลผลิตมาแปรรูป และการวางแผนในการใช้พื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เป็นระบบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด” รมช.ศึกษาธิการ กล่าวทั้งนี้ รมช.ศึกษาธิการ ได้เยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอน และความเป็นอยู่ในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน อาทิ แปลงสาธิตต้นแบบโครงการ 1 ไร่ 1 แสน ตลาดนัดนักศึกษาจากโครงการอาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนาชนบท (อศ.กช.) และปลูกต้นซากุระเป็นที่ระลึกแก่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน เป็นต้น

– วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่

ต่อมาในช่วงบ่าย รมช.ศึกษาธิการ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ โดยมี นายเจริญ เชื้อเมืองพาน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ บุคลากรทางการศึกษา และนักศึกษา ให้การต้อนรับ

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ขอแสดงความชื่นชมแก่ครูและนักเรียนวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ ในการดำเนินงานและปฏิบัติงานอย่างมีระบบเป็นที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง พร้อมทั้งยังเป็นวิทยาลัยที่มีผลงานนักเรียนเป็นที่ประจักษ์ และได้รับรางวัลเป็นจำนวนมาก จากการเรียนการสอนในแต่ละสาขาวิชา ทั้งนี้ ยังได้จัดการศึกษาในรูแบบทวิศึกษากับโรงเรียน 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนแม่วินสามัคคี โรงเรียนอมก๋อยวิทยาคม และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 31 พร้อมทั้ง ยังได้จัดการศึกษานอกระบบตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพื่อส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรในพื้นที่บริการ ได้แก่ โครงการฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้น โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน เป็นต้น

ทั้งนี้ เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ได้มีการเรียนการสอนที่ทันสมัยอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามต้องการให้มีการพัฒนาหลักสูตรอาชีวเกษตร โดยการความร่วมมือกับชุมชน สถานประกอบการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พันธกิจครอบคลุมถึงยุทธศาสตร์ด้านการผลิตบุคลากร สินค้าเกษตร และพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ ศึกษาวิจัยเพื่อผลิตคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เป็นศูนย์กลางเครือข่ายพัฒนาด้านผู้ประกอบการเกษตรทั้งทางวิชาชีพและทางวิชาการ เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการในกลุ่มจังหวัดและกลุ่มชุมชนพื้นที่ โดยการจัดการเรียนการสอนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการการเรียนการสอน: STI (Science Technology Innovation) เป็นเรื่องที่สำคัญ เพื่อพัฒนาและยกระดับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีให้เป็น Digital Agri College ทำให้ผู้เรียนทุกคนมีศักยภาพ มีคุณภาพ สามารถนำไปถ่ายทอดความรู้สู่การสร้างอาชีพ ต่อยอดการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการสร้างงาน สร้างรายได้ สามารถผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านผู้ประกอบการด้านการเกษตร ผลิตกำลังคนให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน และนำไปสู่การเป็น เกษตรกรรุ่นใหม่ (Smart Farmer) ต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ รมช.ศึกษาธิการ ได้เยี่ยมชมกิจกรรม และการจัดการเรียนการสอนในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ อาทิ โครงการเรียนรู้สู่ความเป็นเลิศ การปลูกกล้วยไม้ การปลูกข้าวโพดหวานทานสดพันธุ์ราชินีทับทิมสยาม และการเลี้ยงไก่ไข่แบบกรงตับในระบบอุโมงค์ลม (Evaporative Cooling System: EVAP) และปลูกต้นรวงผึ้งเป็นที่ระลึกแก่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ เป็นต้น

ขอบคุณที่มา : เพจ ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี ศธ.

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่