การประเมินสมรรถนะ (Competency Assessment) คืออะไร ทำไมจึงสำคัญ?

การประเมินสมรรถนะ (Competency Assessment) คืออะไร ทำไมจึงสำคัญ?

บทความนี้ ครูอาชีพดอทคอม ขอเชิญชวนคุณครู มาเรียนรู้เกี่ยวกับ การประเมินสมรรถนะ (Competency Assessment) และมาหาคำตอบว่าสมรรถนะคืออะไร และในปัจจุบันทำไมสมรรถนะจึงสำคัญ? ต่อการเรียนรู้ และการทำงาน ห้ามพลาดเป็นอันขาด มาเรียนรู้กันไปด้วยกันเลยครับ ดังนี้

สมรรถนะ (Competency) คืออะไร

สมรรถนะ (Competency) คือ กลุ่มของคุณลักษณะใด ๆ ที่อยู่ภายในบุคคล ประกอบด้วย ความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skills) และเจตคติ (Attitudes) ที่จำเป็นในการปฏิบัติงานใดงานหนึ่ง (Job Roles) ให้ประสบความสำเร็จและมีความโดดเด่นกว่าคนอื่น ๆ ในเชิงพฤติกรรม

สมรรถนะ (Competency) คืออะไร
สมรรถนะ (Competency) คืออะไร

องค์ประกอบของสมรรถนะ มีกี่องค์ประกอบ อะไรบ้าง ?

องค์ประกอบของสมรรถนะ สมรรถนะประกอบด้วย 3 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่

  • ความรู้ (Knowledge) หมายถึง ความสามารถในการอธิบาย ถ่ายทอดความรู้ที่มีอยู่ให้เพื่อนร่วมงาน หรือผู้ใต้บังคับบัญชา และสามารถนำความรู้เหล่านั้นมาประยุกต์ ใช้ในการปฏิบัติงานได้จนเป็นผลสำเร็จ
  • ทักษะ (Skills) หมายถึง ความชำนาญ หรือความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงานจนสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ด้วยความมุ่งมั่นจากจิตใจ และร่างกาย
  • เจตคติ (Attitudes) ได้แก่แนวคิดส่วนตน (Self –concept) แรงผลักดันภายใน (Motive) อุปนิสัย (Traits) หรือภาพลักษณ์ส่วนตน (Self –image) ซึ่งสังเกตได้จากพฤติกรรมที่แสดงออกมา โดยเจตคติเป็นส่วนที่มีความท้าทายสำหรับการพัฒนาคน เนื่องจากเจตคติเป็นสภาวะทางความคิด ความรู้สึก ที่ผ่านการปลูกฝังมาตามช่วงวัยและขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละบุคคล
องค์ประกอบของสมรรถนะ

ทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง (Competency Iceberg)

ทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง (Competency Iceberg) สิ่งที่อยู่เหนือน้ำ คือ ความรู้และทักษะ (Knowledge & Skill) ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถแสดงออกทางพฤติกรรมที่เรามองเห็นได้ แต่ใต้ภูเขาน้ำแข็งมีหลายอย่างที่ขับเคลื่อนอยู่ นั่นคือ เจตคติ (Attitudes) ไม่ว่าจะเป็น บทบาทที่แสดงออกต่อสังคม (Social Role) ภาพลักษณ์ภายใน (Self-Image) อุปนิสัย (Traits) และแรงผลักดันเบื้องลึก (Motive) ซึ่งทั้งหมดนี้คือคุณลักษณะที่ต้องพิจารณาเพื่อตอบว่าบุคคลใดบุคคลหนึ่งนั้นมีสมรรถนะตามที่ระบุไว้หรือไม่

ทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง (Competency Iceberg)

สมรรถนะมีประโยชน์อย่างไร ?

ประโยชน์ของสมรรถนะ (ในองค์กร) การที่องค์กรให้ความสำคัญต่อสมรรถนะของบุคลากรจะช่วยก่อให้เกิดประโยชน์อันหลากหลายด้าน ดังต่อไปนี้

  • ช่วยให้องค์กรสามารถคัดสรรบุคคลที่มีคุณสมบัติที่ดี ทั้งด้านความรู้ ทักษะ และความสามารถตลอดจนพฤติกรรมที่เหมาะสมกับงาน
  • ช่วยให้ผู้ปฏิบัติทราบถึงระดับความรู้ ทักษะ และความสามารถของตนเองว่าอยู่ในระดับใดและจำเป็นต้องพัฒนาในเรื่องใด
  • นำไปใช้ในการจัดฝึกอบรมและพัฒนาสมรรถนะของบุคลากร
  • สมรรถนะช่วยสนับสนุนตัวชี้วัดหลักของผลงาน (Key Performance Indicators: KPIs) 
  • ใช้ตรวจสอบผลการปฏิบัติงานของบุคลากร
  • เพื่อให้ประสิทธิภาพของบุคลากรในองค์กรมีมาตรฐานไปในทิศทางเดียวกันด้วยสมรรถนะหลักขององค์กร 
ประโยชน์ของสมรรถนะ

การจัดกลุ่มประเภทของสมรรถนะ

การจัดกลุ่มประเภทของสมรรถนะ

สมรรถนะ มีกี่ประเภท อะไรบ้าง ?

สมรรถนะ (Competency) แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่

  • สมรรถนะหลัก (Core Competency) คือ สมรรถนะพื้นฐานที่ตรงตามความต้องการขององค์กร และเป็นสมรรถนะที่ทุกคนในองค์กรต้องมีร่วมกัน
  • สมรรถนะประจำหน้าที่งาน (Functional Competency) คือ สมรรถนะที่กำหนดเฉพาะเจาะจงตามลักษณะงานที่ปฏิบัติ ส่งผลต่อความสำเร็จของงาน โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 สมรรถนะย่อย ได้แก่
    • สมรรถนะด้านการบริหาร (Managerial Competency) คือ สมรรถนะในการบริหารจัดการงานที่ปฏิบัติ รวมถึงบริการจัดการบุคคลที่เกี่ยวข้อง และ
    • สมรรถนะในอาชีพ (Technical Competency) คือ สมรรถนะเชิงเทคนิคเฉพาะที่แตกต่างกันตามลักษณะงาน
สมรรถนะ (Competency) แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ

การประเมินสมรรถนะ (Competency Assessment)

การประเมินสมรรถนะ (Competency Assessment) หมายถึง การประเมินว่าบุคลากรขององค์การ มีความรู้ ทักษะและความสามารถหรือแสดงพฤติกรรมในการปฏิบัติงานได้มากน้อยเหมาะสมหรือเพียงพอที่จะปฏิบัติงานให้บรรลุตามที่ได้รับมอบหมายและผลักดันการดำเนินงานตามกลยุทธ์ได้หรือไม่

เป็นการประเมินความสามารถของบุคลากรแต่ละตำแหน่งงานเพื่อสรุปสมรรถนะของพนักงานที่ควรปรับปรุงหรือพัฒนา (Competency Gap) ซึ่งสามารถใช้เป็นแนวทางในการกำหนดหลักสูตรหรือโปรแกรมที่จำเป็นในการพัฒนาตามสมรรถนะที่ต้องการปรับปรุง

การประเมินสมรรถนะ (Competency Assessment)

เทคนิคในการประเมินสมรรถนะ

  • การประเมินตนเองและการประเมินร่วมกับผู้บังคับบัญชา (Self Assessment and Boss Assessment) อาจใช้ การประเมิน 180 หรือ 360 องศา (360 Degrees Evaluation) เช่น การประเมินจากเพื่อนร่วมงาน การประเมินจากลูกค้า
  • การสังเกตพฤติกรรม (Observation)
  • แบบทดสอบสมรรถนะ (Knowledge and Skills Test) เช่น แบบทดสอบความรู้หรือทักษะความชำนาญ
  • การสัมภาษณ์ (Interview) 
  • แบบสอบถาม (Questionnaire)

ไม่ว่าจะใช้รูปแบบใดในการประเมินให้พิจารณาว่ารูปแบบประเมินที่ใช้เหมาะสมหรือไม่ และอาจใช้หลากหลายรูปแบบในการประเมินให้สามารถทราบสมรรถนะที่แท้จริงได้

เทคนิคในการประเมินสมรรถนะ

ประโยชน์ของสมรรถนะที่นำมาใช้ในเชิงการศึกษา

  • ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพรายบุคคล (Personalization) เนื่องจากผู้เรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ทั้งในเรื่องของศักยภาพ ความพร้อม และความสนใจส่วนตน ดังนั้น การเรียนรู้ต้องสอดคล้องกับศักยภาพของผู้เรียนรายบุคคล
  • พัฒนาให้ผู้เรียนเกิดสุขภาวะ (Well-being) ทั้งในด้านสุขภาพ ความฉลาดรู้ สังคมและอารมณ์อย่างสมดุลรอบด้านและเป็นองค์รวม โดยยึดหลักความเสมอภาค
  • พัฒนาสมรรถนะที่จำเป็นเพื่อใช้ในการดำรงชีวิต สมรรถนะ คือการผสมผสานการใช้ความรู้ ทักษะ เจตคติ และคุณลักษณะ เกิดเป็นความสามารถมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
  • พัฒนาผู้เรียนให้รู้เท่าทันและสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง โลกปัจจุบันมีการผันผวนไม่แน่นอน สลับซับซ้อนและคลุมเครือหรือที่เรียกว่า VUCA World

หลักสูตรฐานสมรรถนะมีกี่องค์ประกอบ อะไรบ้าง?

องค์ประกอบสำคัญของหลักสูตรฐานสมรรถนะ ในด้านการศึกษาหลักสูตรฐานสมรรถนะ จะประกอบไปด้วย 7 องค์ประกอบ ดังนี้

  • ความรู้ (Knowledge)
  • ทักษะ (Skill)
  • คุณลักษณะ / เจตคติ (Attribute/Attitude)
  • การประยุกต์ใช้ (Application)
  • การกระทำ / การปฏิบัติ (Performance) 
  • งานและสถานการณ์ต่าง ๆ (Task/Job/Situations)
  • ผลสำเร็จ (Success) ตามเกณฑ์ที่กำหนด (Performance Criteria)
องค์ประกอบสำคัญของหลักสูตรฐานสมรรถนะ

จะเห็นได้ว่าในทางการศึกษานอกจาก องค์ประกอบสำคัญ 3 องค์ประกอบ ได้แก่ ความรู้ ทักษะ และเจตคติ แล้ว จะลงลึกไปถึงการที่ผู้เรียนจะต้องสามารถนำความรู้ความสามารถนั้นไปประยุกต์ใช้ ปฏิบัติ แก้ไข้ปัญหาในสถานการณ์หรือชีวิตประจำวันได้จริง จนเกิดผลสำเร็จในท้ายสุด

การประเมินสมรรถนะ (Competency Assessment) คืออะไร ทำไมจึงสำคัญ? 11

ที่มา : เข้าใจสมรรถนะอย่างง่าย ๆ ฉบับประชาชนและเข้าใจหลักสูตรฐานสมรรถนะอย่างง่าย ๆ ฉบับครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา กรุงเทพฯ : สกศ.,2562 หน้า 11

ครูอาชีพขอขอบคุณที่มา สาระจากกิจกรรม การประเมินสมรรถนะ (Competency Assessment)
โดย คุณสุกฤตา ปรีชาว่อง และคุณขวัญฤทัย รอบุญ SKILL SHAPE COMPANY LIMITED

เรียบเรียงโดย ทีม CELT Facebook CELT KMUTT

บทความที่เกี่ยวข้อง

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่