การประเมินสมรรถนะ (Competency Assessment) คืออะไร ทำไมจึงสำคัญ?
บทความนี้ ครูอาชีพดอทคอม ขอเชิญชวนคุณครู มาเรียนรู้เกี่ยวกับ การประเมินสมรรถนะ (Competency Assessment) และมาหาคำตอบว่าสมรรถนะคืออะไร และในปัจจุบันทำไมสมรรถนะจึงสำคัญ? ต่อการเรียนรู้ และการทำงาน ห้ามพลาดเป็นอันขาด มาเรียนรู้กันไปด้วยกันเลยครับ ดังนี้
สมรรถนะ (Competency) คืออะไร
สมรรถนะ (Competency) คือ กลุ่มของคุณลักษณะใด ๆ ที่อยู่ภายในบุคคล ประกอบด้วย ความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skills) และเจตคติ (Attitudes) ที่จำเป็นในการปฏิบัติงานใดงานหนึ่ง (Job Roles) ให้ประสบความสำเร็จและมีความโดดเด่นกว่าคนอื่น ๆ ในเชิงพฤติกรรม
องค์ประกอบของสมรรถนะ มีกี่องค์ประกอบ อะไรบ้าง ?
องค์ประกอบของสมรรถนะ สมรรถนะประกอบด้วย 3 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่
- ความรู้ (Knowledge) หมายถึง ความสามารถในการอธิบาย ถ่ายทอดความรู้ที่มีอยู่ให้เพื่อนร่วมงาน หรือผู้ใต้บังคับบัญชา และสามารถนำความรู้เหล่านั้นมาประยุกต์ ใช้ในการปฏิบัติงานได้จนเป็นผลสำเร็จ
- ทักษะ (Skills) หมายถึง ความชำนาญ หรือความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงานจนสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ด้วยความมุ่งมั่นจากจิตใจ และร่างกาย
- เจตคติ (Attitudes) ได้แก่แนวคิดส่วนตน (Self –concept) แรงผลักดันภายใน (Motive) อุปนิสัย (Traits) หรือภาพลักษณ์ส่วนตน (Self –image) ซึ่งสังเกตได้จากพฤติกรรมที่แสดงออกมา โดยเจตคติเป็นส่วนที่มีความท้าทายสำหรับการพัฒนาคน เนื่องจากเจตคติเป็นสภาวะทางความคิด ความรู้สึก ที่ผ่านการปลูกฝังมาตามช่วงวัยและขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละบุคคล
ทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง (Competency Iceberg)
ทฤษฎีภูเขาน้ำแข็ง (Competency Iceberg) สิ่งที่อยู่เหนือน้ำ คือ ความรู้และทักษะ (Knowledge & Skill) ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถแสดงออกทางพฤติกรรมที่เรามองเห็นได้ แต่ใต้ภูเขาน้ำแข็งมีหลายอย่างที่ขับเคลื่อนอยู่ นั่นคือ เจตคติ (Attitudes) ไม่ว่าจะเป็น บทบาทที่แสดงออกต่อสังคม (Social Role) ภาพลักษณ์ภายใน (Self-Image) อุปนิสัย (Traits) และแรงผลักดันเบื้องลึก (Motive) ซึ่งทั้งหมดนี้คือคุณลักษณะที่ต้องพิจารณาเพื่อตอบว่าบุคคลใดบุคคลหนึ่งนั้นมีสมรรถนะตามที่ระบุไว้หรือไม่
สมรรถนะมีประโยชน์อย่างไร ?
ประโยชน์ของสมรรถนะ (ในองค์กร) การที่องค์กรให้ความสำคัญต่อสมรรถนะของบุคลากรจะช่วยก่อให้เกิดประโยชน์อันหลากหลายด้าน ดังต่อไปนี้
- ช่วยให้องค์กรสามารถคัดสรรบุคคลที่มีคุณสมบัติที่ดี ทั้งด้านความรู้ ทักษะ และความสามารถตลอดจนพฤติกรรมที่เหมาะสมกับงาน
- ช่วยให้ผู้ปฏิบัติทราบถึงระดับความรู้ ทักษะ และความสามารถของตนเองว่าอยู่ในระดับใดและจำเป็นต้องพัฒนาในเรื่องใด
- นำไปใช้ในการจัดฝึกอบรมและพัฒนาสมรรถนะของบุคลากร
- สมรรถนะช่วยสนับสนุนตัวชี้วัดหลักของผลงาน (Key Performance Indicators: KPIs)
- ใช้ตรวจสอบผลการปฏิบัติงานของบุคลากร
- เพื่อให้ประสิทธิภาพของบุคลากรในองค์กรมีมาตรฐานไปในทิศทางเดียวกันด้วยสมรรถนะหลักขององค์กร
การจัดกลุ่มประเภทของสมรรถนะ
สมรรถนะ มีกี่ประเภท อะไรบ้าง ?
สมรรถนะ (Competency) แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่
- สมรรถนะหลัก (Core Competency) คือ สมรรถนะพื้นฐานที่ตรงตามความต้องการขององค์กร และเป็นสมรรถนะที่ทุกคนในองค์กรต้องมีร่วมกัน
- สมรรถนะประจำหน้าที่งาน (Functional Competency) คือ สมรรถนะที่กำหนดเฉพาะเจาะจงตามลักษณะงานที่ปฏิบัติ ส่งผลต่อความสำเร็จของงาน โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 สมรรถนะย่อย ได้แก่
- สมรรถนะด้านการบริหาร (Managerial Competency) คือ สมรรถนะในการบริหารจัดการงานที่ปฏิบัติ รวมถึงบริการจัดการบุคคลที่เกี่ยวข้อง และ
- สมรรถนะในอาชีพ (Technical Competency) คือ สมรรถนะเชิงเทคนิคเฉพาะที่แตกต่างกันตามลักษณะงาน
การประเมินสมรรถนะ (Competency Assessment)
การประเมินสมรรถนะ (Competency Assessment) หมายถึง การประเมินว่าบุคลากรขององค์การ มีความรู้ ทักษะและความสามารถหรือแสดงพฤติกรรมในการปฏิบัติงานได้มากน้อยเหมาะสมหรือเพียงพอที่จะปฏิบัติงานให้บรรลุตามที่ได้รับมอบหมายและผลักดันการดำเนินงานตามกลยุทธ์ได้หรือไม่
เป็นการประเมินความสามารถของบุคลากรแต่ละตำแหน่งงานเพื่อสรุปสมรรถนะของพนักงานที่ควรปรับปรุงหรือพัฒนา (Competency Gap) ซึ่งสามารถใช้เป็นแนวทางในการกำหนดหลักสูตรหรือโปรแกรมที่จำเป็นในการพัฒนาตามสมรรถนะที่ต้องการปรับปรุง
เทคนิคในการประเมินสมรรถนะ
- การประเมินตนเองและการประเมินร่วมกับผู้บังคับบัญชา (Self Assessment and Boss Assessment) อาจใช้ การประเมิน 180 หรือ 360 องศา (360 Degrees Evaluation) เช่น การประเมินจากเพื่อนร่วมงาน การประเมินจากลูกค้า
- การสังเกตพฤติกรรม (Observation)
- แบบทดสอบสมรรถนะ (Knowledge and Skills Test) เช่น แบบทดสอบความรู้หรือทักษะความชำนาญ
- การสัมภาษณ์ (Interview)
- แบบสอบถาม (Questionnaire)
ไม่ว่าจะใช้รูปแบบใดในการประเมินให้พิจารณาว่ารูปแบบประเมินที่ใช้เหมาะสมหรือไม่ และอาจใช้หลากหลายรูปแบบในการประเมินให้สามารถทราบสมรรถนะที่แท้จริงได้
ประโยชน์ของสมรรถนะที่นำมาใช้ในเชิงการศึกษา
- ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพรายบุคคล (Personalization) เนื่องจากผู้เรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ทั้งในเรื่องของศักยภาพ ความพร้อม และความสนใจส่วนตน ดังนั้น การเรียนรู้ต้องสอดคล้องกับศักยภาพของผู้เรียนรายบุคคล
- พัฒนาให้ผู้เรียนเกิดสุขภาวะ (Well-being) ทั้งในด้านสุขภาพ ความฉลาดรู้ สังคมและอารมณ์อย่างสมดุลรอบด้านและเป็นองค์รวม โดยยึดหลักความเสมอภาค
- พัฒนาสมรรถนะที่จำเป็นเพื่อใช้ในการดำรงชีวิต สมรรถนะ คือการผสมผสานการใช้ความรู้ ทักษะ เจตคติ และคุณลักษณะ เกิดเป็นความสามารถมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
- พัฒนาผู้เรียนให้รู้เท่าทันและสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง โลกปัจจุบันมีการผันผวนไม่แน่นอน สลับซับซ้อนและคลุมเครือหรือที่เรียกว่า VUCA World
หลักสูตรฐานสมรรถนะมีกี่องค์ประกอบ อะไรบ้าง?
องค์ประกอบสำคัญของหลักสูตรฐานสมรรถนะ ในด้านการศึกษาหลักสูตรฐานสมรรถนะ จะประกอบไปด้วย 7 องค์ประกอบ ดังนี้
- ความรู้ (Knowledge)
- ทักษะ (Skill)
- คุณลักษณะ / เจตคติ (Attribute/Attitude)
- การประยุกต์ใช้ (Application)
- การกระทำ / การปฏิบัติ (Performance)
- งานและสถานการณ์ต่าง ๆ (Task/Job/Situations)
- ผลสำเร็จ (Success) ตามเกณฑ์ที่กำหนด (Performance Criteria)
จะเห็นได้ว่าในทางการศึกษานอกจาก องค์ประกอบสำคัญ 3 องค์ประกอบ ได้แก่ ความรู้ ทักษะ และเจตคติ แล้ว จะลงลึกไปถึงการที่ผู้เรียนจะต้องสามารถนำความรู้ความสามารถนั้นไปประยุกต์ใช้ ปฏิบัติ แก้ไข้ปัญหาในสถานการณ์หรือชีวิตประจำวันได้จริง จนเกิดผลสำเร็จในท้ายสุด
ที่มา : เข้าใจสมรรถนะอย่างง่าย ๆ ฉบับประชาชนและเข้าใจหลักสูตรฐานสมรรถนะอย่างง่าย ๆ ฉบับครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา กรุงเทพฯ : สกศ.,2562 หน้า 11
ครูอาชีพขอขอบคุณที่มา สาระจากกิจกรรม การประเมินสมรรถนะ (Competency Assessment)
โดย คุณสุกฤตา ปรีชาว่อง และคุณขวัญฤทัย รอบุญ SKILL SHAPE COMPANY LIMITED
เรียบเรียงโดย ทีม CELT Facebook CELT KMUTT
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ชวนคุณครูมาเรียนรู้ ก้าวสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะ (CBE) เน้นให้ผู้เรียนเกิด “การลงมือทำ” เรียนฟรี!! โดย Starfish Labz
- แนวทางการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะใน 9 สาระการเรียนรู้ หลักสูตรฐานสมรรถนะ ช่วงชั้นที่ 2 (ร่างกรอบหลักสูตรหลังประชุมวิพากษ์)
- ดาวน์โหลดฟรี! แนวทางการจัดการเรียนรู้แบบฐานสมรรถนะ 7 กลุ่มสาระฯ ช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-ป.3) จาก สพฐ.
- ชวนคุณครูมาทำความเข้าใจ แนวโน้มการวัดและการประเมินผลสำหรับหลักสูตรฐานสมรรถนะ