กรอบแนวทางการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ฉบับลงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2566
กรอบแนวทางการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ประกาศคณะกรรมการสานักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา เรื่อง เรื่อง กรอบแนวทางการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษา การศึกษาปฐมวัย ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และด้านการอาชีวศึกษา ฉบับลงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2566
เอกสารหมายเลข 2
ตัวชี้วัดการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน แนบท้ายประกาศคณะกรรมการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา เรื่อง กรอบแนวทางการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษา การศึกษาปฐมวัย ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และด้านการอาชีวศึกษาฉบับลงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2566
กรอบแนวทางการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีจำนวน 3 มาตรฐาน 18 ตัวชี้วัด ได้แก่มาตรฐานที่ 1 ผลลัพธ์ของการเรียนรู้ (3 ตัวชี้วัด)
ตัวชี้วัดที่ 1.1 ผู้เรียนมีสมรรถนะตามหลักสูตรสถานศึกษา
คำอธิบาย
ผู้เรียนมีสมรรถนะตามหลักสูตรสถานศึกษา สามารถประยุกต์ใช้ทั้งความรู้ ทักษะ และเจตคติ ในการพัฒนาการเรียนรู้ การแก้ปัญหา การปรับตัวให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และการดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสม
ตัวชี้วัดที่ 1.2 ผู้เรียนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามหลักสูตรสถานศึกษา
คำอธิบาย
ผู้เรียนมีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีความซื่อสัตย์สุจริต มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง มุ่งมั่นในการทำงาน รักความเป็นไทย และมีจิตสาธารณะ รวมทั้งมีจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีคุณธรรม จริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อตนเองและส่วนรวม ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น สิ่งแวดล้อม ประเพณีวัฒนธรรมไทย ปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเคารพ และมีความพร้อมใช้ชีวิตในบริบทต่าง ๆ ของการเป็นพลโลก
ตัวชี้วัดที่ 1.3 ผู้เรียนสามารถนำตนเองในการเรียนรู้
คำอธิบาย
ผู้เรียนมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ สามารถคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ พัฒนากระบวนการเรียนรู้ แบบนำตนเอง ไม่ย่อท้อในการเรียนรู้ แสวงหาแหล่งเรียนรู้ และสามารถประเมินการเรียนรู้ของตนเองได้
มาตรฐานที่ 2 การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการสถานศึกษา (12 ตัวชี้วัด)
ตัวชี้วัดที่ 2.1 วิสัยทัศน์ พันธกิจ และค่านิยมของสถานศึกษา
คำอธิบาย
ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งภายในและภายนอกมีส่วนร่วมในการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และค่านิยมของสถานศึกษาที่สะท้อนผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนตามหลักสูตรสถานศึกษา
ตัวชี้วัดที่ 2.2 นโยบายและทิศทางการบริหารสถานศึกษาที่กำหนดสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ และพันธกิจ
คำอธิบาย
สถานศึกษานำวิสัยทัศน์ พันธกิจ และค่านิยมไปกำหนดนโยบายและทิศทางการบริหารสถานศึกษา การจัดทำแผน และสื่อสารให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายรับทราบทั่วถึง
ตัวชี้วัดที่ 2.3 ผู้บริหารสถานศึกษามีภาวะผู้นำทางวิชาการ
คำอธิบาย
ผู้บริหารสถานศึกษามีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานด้านผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน ด้านการสื่อสารแผนงานวิชาการ ด้านการบริหารจัดการหลักสูตรการสอนและการประกันคุณภาพการศึกษา การสร้างบรรยากาศทางวิชาการ การส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองของครู บุคลากรทางการศึกษา ที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน รวมทั้งส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีของครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้มีความรับผิดชอบ
ตัวชี้วัดที่ 2.4 ผู้บริหารสถานศึกษากำหนดกลยุทธ์และแผนงานของสถานศึกษาอย่างมีส่วนร่วมของครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
คำอธิบาย
ผู้บริหารสถานศึกษามีการบริหารงานอย่างมีส่วนร่วมระหว่างครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ในการกำหนดกลยุทธ์และแผนงานที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ และค่านิยม ของสถานศึกษา สามารถวัดความสำเร็จได้ มีการประเมินกลยุทธ์การบริหารเพื่อพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษา อย่างต่อเนื่อง โดยมีการนำผลการประเมินคุณภาพภายนอกครั้งก่อนมาเป็นส่วนหนึ่งในการปรับปรุงพัฒนา ตามข้อเสนอแนะอย่างเป็นรูปธรรม และรายงานผลการดำเนินงานของสถานศึกษาต่อสาธารณชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
ตัวชี้วัดที่ 2.5 สถานศึกษาบริหารจัดการด้วยหลักธรรมาภิบาล
คำอธิบาย
สถานศึกษาบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งประกอบด้วย 1) หลักนิติธรรม 2) หลักคุณธรรม 3) หลักความโปร่งใส 4) หลักความมีส่วนร่วม 5) หลักความรับผิดชอบ และ 6) หลักความคุ้มค่า เพื่อสะท้อนความรับผิดชอบต่อคุณภาพและสวัสดิภาพของผู้เรียน
ตัวชี้วัดที่ 2.6 สถานศึกษาจัดทำแผนงานและดำเนินงานด้านการพัฒนาครู และบุคลากรทางการศึกษา
คำอธิบาย
สถานศึกษาจัดทำแผนงานพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา มีการดำเนินงานตามแผนงาน ในการพัฒนาความรู้ ทักษะวิชาชีพ การจัดการความเสี่ยง ความปลอดภัย และการดูแลคุ้มครองผู้เรียนจากการถูกรังแก และถูกคุกคามที่สอดคล้องกับสภาพและบริบทของสถานศึกษา
ตัวชี้วัดที่ 2.7 สถานศึกษามีกระบวนการนิเทศการปฏิบัติงานของครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างเป็นระบบ
คำอธิบาย
สถานศึกษามีการนิเทศและประเมินผลการปฏิบัติงาน นำผลการประเมินการปฏิบัติงานไปใช้ ในการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ และช่วยเหลือ แนะนำ ส่งเสริมกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาชีพ ของครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างสม่ำเสมอ
ตัวชี้วัดที่ 2.8 สถานศึกษามีอาคารสถานที่ สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ
คำอธิบาย
สถานศึกษามีอาคารสถานที่ สภาพแวดล้อม พื้นที่สำหรับทำกิจกรรมการเรียนรู้ สิ่งอำนวยความสะดวกที่พอเพียง ปลอดภัย ถูกสุขอนามัย เหมาะสมต่อการจัดการเรียนรู้และสนับสนุน การพัฒนาตนเองของผู้เรียน มีแผนการบำรุงรักษาอาคารสถานที่ มีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ตรวจสอบได้ มีการประเมินความเสี่ยง ซักซ้อมขั้นตอนในการรักษาความปลอดภัยและปรับปรุงมาตรการการดำเนินงานทุกด้าน
ตัวชี้วัดที่ 2.9 สถานศึกษามีสื่อ อุปกรณ์ และระบบเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษา
คำอธิบาย
สถานศึกษามีระบบเทคโนโลยีที่สนับสนุนการจัดการศึกษา มีการใช้สื่อ อุปกรณ์ที่เหมาะสมต่อการจัดการเรียนรู้และส่งเสริมการพัฒนาตนเองของครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้เรียน มีการประเมินผลการใช้ระบบเทคโนโลยี สื่อ อุปกรณ์ และปรับปรุงพัฒนาอย่างเหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษา
ตัวชี้วัดที่ 2.10 สถานศึกษามีระบบและกระบวนการช่วยเหลือผู้เรียน
คำอธิบาย
สถานศึกษามีระบบการดูแลช่วยเหลือผู้เรียน มีการประเมินความเสี่ยงของพัฒนาการ ในการเรียนรู้ มีการคัดกรองเบื้องต้นอย่างเป็นระบบเพื่อช่วยเหลือและส่งต่อผู้เรียนกรณีที่มีความจำเป็น
ตัวชี้วัดที่ 2.11 การให้คำปรึกษาและการพัฒนาผู้เรียนของสถานศึกษา
คำอธิบาย
สถานศึกษามีระบบการให้คำปรึกษาแนะแนวแก่ผู้เรียนตามความต้องการ และความสนใจ ของผู้เรียน ส่งเสริมให้ผู้เรียนทุกคนได้รับโอกาสและพัฒนาในการเรียนรู้ตามความสนใจและความถนัด มีการดูแลสวัสดิการและสวัสดิภาพของผู้เรียนทุกคนอย่างทั่วถึง ทั้งด้านสุขภาพร่างกาย การพัฒนาจิตใจ อารมณ์ และสังคม
ตัวชี้วัดที่ 2.12 สถานศึกษาเสริมสร้างเครือข่ายผู้ปกครอง องค์กร และชุมชน เพื่อความร่วมมือ ในการสนับสนุนการจัดการเรียนรู้และพัฒนาผู้เรียน
คำอธิบาย
สถานศึกษามีฐานข้อมูล มีการสร้างเครือข่ายและการร่วมมือกับผู้ปกครอง องค์กร และชุมชนเพื่อให้เกิดความร่วมมือ สนับสนุนการจัดการเรียนรู้ของสถานศึกษาในการพัฒนาผู้เรียน
มาตรฐานที่ 3 การพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ (3 ตัวชี้วัด)
ตัวชี้วัดที่ 3.1 สถานศึกษามีการออกแบบหลักสูตรที่เสริมสร้างสมรรถนะและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ และคำนึงถึงความต้องการของผู้เรียน
คำอธิบาย
สถานศึกษาออกแบบหลักสูตรสถานศึกษาโดยการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องเพื่อเสริมสร้าง สมรรถนะและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียนโดยคำนึงถึงความต้องการ ความสนใจของผู้เรียน และบริบทสถานศึกษา รวมทั้งมีการประเมินเพื่อปรับปรุงหลักสูตรให้เป็นปัจจุบัน
ตัวชี้วัดที่ 3.2 ครูออกแบบและใช้แผนการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนโดยการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง
คำอธิบาย
ครูออกแบบและใช้แผนการจัดการเรียนรู้ที่คำนึงถึงความต้องการ ความถนัดและความสนใจ ของผู้เรียน จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์ในกิจกรรมการเรียนรู้
ตัวชี้วัดที่ 3.3 ครูประเมินพัฒนาการของผู้เรียนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
คำอธิบาย
ครูประเมินพัฒนาการของผู้เรียนด้วยวิธีการที่หลากหลายอย่างเป็นระบบและสม่ำเสมอ ให้ข้อมูลป้อนกลับเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนนำคำแนะนำไปใช้ในการปรับปรุงพัฒนาตนเอง
ขอบคุณที่มา:
ประกาศคณะกรรมการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา เรื่อง กรอบแนวทางการประกันคุณภาพภายนอกสถานศึกษา การศึกษาปฐมวัย ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และด้านการอาชีวศึกษา ฉบับลงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2566