ตัวอย่างการเขียนเรียงความแก้กระทู้ธรรม ของธรรมศึกษาชั้นตรี โท และ เอก

ตัวอย่างการเขียนเรียงความแก้กระทู้ธรรม ของธรรมศึกษาชั้นตรี โท และ เอก

เรียงความแก้กระทู้ธรรม คือการอธิบายเนื้อความของข้อธรรมที่ตั้งไว้ให้กว้างขวางออกไป โดบหา เหตุผลหรือหลักฐานมาประกอบอ้างอิง ตามความรู้ ความเห็นของผู้เขียน ด้วยประสงค์จะให้ผู้อ่านผู้ฟังเข้าใจ ความหมายของข้อธรรมนั้นอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนและเพื่อให้เห็นจริง เห็นดี เห็นชอบ เชื่อถือ ปฏิบัติตาม เป็นข้อ สําคัญ มีวิธีการเขียนดังนี้

หลักปฏิบัติในการสอบสนามหลวง วิชา กระทู้ธรรม 

           ๑. แต่งตามกระทู้ธรรมสุภาษิตที่กำหนดให้

           ๒. อธิบายขยายเนื้อความกระทู้ธรรมสุภาษิตนั้นให้สมเหตุสมผล

           ๓. อ้างสุภาษิตบทอื่นพร้อมบอกที่มา มาอธิบายประกอบด้วย ๑ สุภาษิตในหนังสือพุทธสุภาษิตเล่ม ๑

           ๔. เชื่อมความระหว่างสุภาษิตที่นำมาเชื่อมกับสุภาษิตบทตั้งให้สนิทติดต่อสมเรื่องกันด้วยเหตุผล

           ๕. ให้เขียนลงในกระดาษสอบ ตั้งแต่ ๒ หน้า ( เว้นบรรทัด ) ขึ้นไป

ระเบียบการตรวจกระทู้ธรรมสนามหลวง

คณะกรรมการได้กำหนดแนวทางในการตรวจกระทู้ธรรม และพิจารณาให้คะแนนดังนี้

           ๑.แต่งได้ครบตามกำหนด ( ตั้งแต่ ๒ หน้ากระดาษขึ้นไป )

           ๒.อ้างสุภาษิตเชื่อมได้ตามกฎ ( ๑ สุภาษิต )

           ๓.เชื่อมความกระทู้ได้ดี

           ๔.อธิบายความสมกับกระทู้ที่ตั้งไว้

           ๕.ใช้สำนวนสุภาพเรียบร้อย

           ๖.ใช้ตัวสะกดการันต์ถูกต้องตามหลักภาษา

           ๗.สะอาดไม่เปรอะเปื้อน ฯ

พุทธศาสนสุภาษิตสำหรับท่องจำ (ควรฝึกเขียนให้ถูกต้องด้วย)

หมวด ตน 

อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ. 

ตนแล เป็นที่พึ่งของตน. ที่มาของสุภาษิต ขุทฺทกนิกาย ธรรมบท

อตฺตนา หิ สุทนฺเตน นาถํ ลภติ ทุลฺลภิ. 

ผู้มีตนฝึกดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่ง ซึ่งได้โดยยาก. ที่มาสุภาษิต ขุทฺทกนิกาย ธรรมบท

หมวด ความไม่ประมาท 

อปฺปมาโท อมตํ ปทํ. 

ความไม่ประมาท เป็นทางไม่ตาย. ที่มาสุภาษิต ขุทฺทกนิกาย ธรรมบท

อปฺปมาทํ ปสํสนฺติ. 

บัณฑิตย่อมสรรเสริญ ความไม่ประมาท. ที่มาสุภาษิต สังยุตฺตนิกาย สคาถวรรค

หมวด กรรม 

กมฺมุนา วตฺตติ โลโก. 

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม. ที่มาสุภาษิต ขุทฺทกนิกาย ธรรมบท

กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ. 

ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว. ที่มาสุภาษิต สังยุตฺตนิกาย สคาถวรรค

หมวด กิเลส 

โลโภ ธมฺมานํ ปริปนฺโถ. 

ความโลภเป้นอันตราย แห่งธรรมทั้งหลาย. ที่มาสุภาษิต ขุทฺทกนิกาย สคาถวรรค

อิจฺฉา นรํ ปริกปนฺโถ. 

ความอยากย่อมชักพาคนไปต่างๆ. ที่มาสุภาษิต สังยุตฺตนิกาย สคาถวรรค

หมวด ความโกรธ 

โกธํ ฆตฺวา สุขํ เสติ. 

ฆ่าความโกรธได้ย่อมอยู่เป็นสุข. ที่มาสุภาษิต สังยุตฺตนิกาย สคาถวรรค

โกธํ ทเมน อุจฺฉินฺเท. 

พึงตัดความโกรธด้วยความข่มใจ. ที่มาสุภาษิต อังคุตฺตรนิกาย สัตตกนิบาต

หมวด ความอดทน 

ขนฺติ ปรมํ ตโป ตีติกฺขา. 

ขันติคือความอดทนเป็นตบะ อย่างยิ่ง. ที่มาสุภาษิต ทีฆนิกาย มหาวรรค ขุทฺทกนิกาย ธรรมบท

ขนฺติ หิตสุขาวหา. 

ความอดทน นำมาซึ่งประโยชน์สุข. ที่มาสุภาษิต สวดมนต์ ฉบับหลวง

หมวด จิต 

จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ. 

จิตที่ฝึกแล้ว นำสุขมาให้. ที่มาสุภาษิต ขุทฺทกนิกาย ธรรมบท

จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา. 

เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นอันต้องหวัง. ที่มาสุภาษิต มัชฌิมนิกาย มูลปณฺณาสก์

หมวด ชัยชนะ 

สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ.

การให้ธรรมะ ย่อมชนะการให้ทั้งปวง. ที่มาสุภาษิต ขุทฺทกนิกาย ธรรมบท

ตณฺหกฺขโย สพฺพทุกฺขํ ชินาติ. 

ความสิ้นตัณหา ย่อมชนะทุกข์ทั้งปวง. ที่มาสุภาษิต ขุทฺทกนิกาย ธรรมบท

หมวด ทาน 

วิเจยฺย ทานํ สุคตปฺปสตฺตํ. 

การเลือกให้ พระสุคตทรงสรรเสริญ. ที่มาสุภาษิต สังยุตฺตนิกาย สคาถวรรค

พาลา หเว นปฺปสํสนฺติ ทานํ. 

คนพาลเท่านั้น ไม่สรรเสริญทาน. ที่มาสุภาษิต ขุทฺทกนิกาย ธรรมบท

หมวด ทุกข์ 

อิณาทานํ ทุกฺขํ โลเก. 

การกู้หนี้ เป็นทุกข์ในโลก. ที่มาสุภาษิต อังคุตฺตรนิกาย ฉักกนิบาต

ทุราวาสา ฆรา ทุกฺขา. 

เหย้าเรือนที่ปกครองไม่ดี นำทุกข์มาให้ ที่มาสุภาษิต ขุทฺทกนิกาย ธรรมบท

ขั้นตอนการเขียนเรียงความแก้กระทู้ธรรม

๑. ต้องท่องจำพุทธศาสนสุภาษิต เล่ม ๑ ให้ได้ และเขียนให้ถูกต้องอย่างน้อย ๒ สุภาษิต พร้อมทั้งที่มาของสุภาษิตบทนั้นด้วยเพื่อนำไปเป็นสุภาษิตเชื่อม (เวลาสอบใช้สุภาษิตเดียว)

๒. เมื่อท่องจำสุภาษิตได้แล้ว พึงฝึกหัดแต่งสุภาษิตนั้น สัก ๒-๓ ครั้ง ประมาณ ๑ หน้ากระดาษ จนเกิดความชำนาญ เมื่อนำไปเชื่อมในการสอบจริงจะได้ง่ายขึ้น

ขั้นตอนการลงมือเขียน

           ขั้นตอนที่ ๑ การเขียนสุภาษิตกระทู้ตั้ง ต้องเขียนไว้กึ่งกลางหน้ากระดาษสอบให้พอดี โดยเฉพาะคำบาลีนั้นต้องเขียนให้ถูกอักขระ ในส่วนคำแปลนั้น พึงเขียนจัดวางให้ได้กึ่งกลางของคำบาลี อย่าให้ล้นไปข้างหน้า หรือเยื้องไปข้างหลังจะดูไม่งามต้องพยายามกะให้พอดี

           ขั้นตอนที่ ๒ การเขียนอารัมภบท คือ ณ บัดนี้ ….ให้ย่อหน้าขึ้นบรรทัดใหม่ ประมาณ ๖ ตัวอักษร

           ขั้นตอนที่ ๓ ก่อนอธิบายเนื้อความให้ขึ้นบรรทัดใหม่ย่อหน้ากระดาษ การย่อหน้ากระดาษต้องให้ตรงกับ ณ บัดนี้ 

           ขั้นตอนที่ ๔ การเขียนสุภาษิตเชื่อม ให้เขียนตรงกลางหน้ากระดาษเหมือนสุภาษิตบทตั้ง (ข้อสอบ) แต่ก่อนที่จะยกสุภาษิตที่เราท่องไว้แล้วมาเชื่อม ต้องอ้างที่มาของสุภาษิตเสียก่อนว่า สมดังสุภาษิตที่มาใน ……. ( ที่มาของสุภาษิตบทนั้น ) แล้วจึงวางสุภาษิตไว้ตรงกลางหน้ากระดาษ

           ขั้นตอนที่ ๕ ก่อนจะอธิบายเนื้อความของสุภาษิตเชื่อม ให้ย่อหน้าขึ้นบรรทัดใหม่ เหมือนขั้นตอนที่ ๒

           ขั้นตอนที่ ๖ การสรุปความให้ย่อหน้า เขียนคำว่า สรุปความว่า ……. การสรุปนั้นควรสรุปประมาณ ๕ – ๖ บรรทัด จึงจะพอดี เมื่อสรุปเสร็จแล้ว ให้นำสุภาษิตบทตั้ง (ข้อสอบ) มาเขียนปิดท้าย

           ขั้นตอนที่ ๗ การเขียนสุภาษิตปิดท้าย ให้เขียนคำว่า สมดังสุภาษิตที่ยกขึ้นเป็นนิกเขปบทเบื้องต้นนั้นว่า…..แล้วนำสุภาษิตบทตั้ง (ข้อสอบ) มาเขียนไว้ตรงกึ่งกลางหน้ากระดาษปิดท้าย

           ขั้นตอนที่ ๘ บรรทัดสุดท้ายนิยมเติมคำว่า “มีนัยดังพรรณนามาด้วยประการฉะนี้ ฯ หรือ เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้” มาปิดท้าย

           ส่วนการย่อหน้าและจัดวรรคตอนนอกจากนี้ ให้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม การเขียนเรียงความแก้กระทู้ธรรม ต้องฝึกเขียนให้ได้ ๔ – ๕ ครั้งขึ้นไป แต่ละครั้งที่ฝึกเขียน พึงดูแผนการเขียนและตัวอย่างการเรียงความแก้กระทู้ธรรมประกอบด้วยว่าถูกต้องหรือไม่.

ตัวอย่างการเขียนเรียงความแก้กระทู้ธรรม

ตัวอย่างการเขียนเรียงความแก้กระทู้ธรรม
ตัวอย่าง การเขียนเรียง ความแก้กระทู้ธรรม
ตัวอย่าง การเขียนเรียง ความแก้กระทู้ธรรม
ตัวอย่าง การเขียนเรียงความ แก้กระทู้ธรรม
ตัวอย่าง การเขียนเรียงความ แก้กระทู้ธรรม
ตัวอย่าง การเขียนเรียงความ แก้กระทู้ธรรม
ตัวอย่าง การเขียนเรียง ความแก้กระทู้ธรรม
ตัวอย่าง การเขียนเรียงความ แก้กระทู้ธรรม
ตัวอย่าง การเขียนเรียงความ แก้กระทู้ธรรม

ขอบคุณที่มา : Facebook ค่ายนำธรรมแสงธรรม วัดป่าหนองหิน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่