ทิศทางแผนการศึกษาชาติปรับ 7 เรื่อง 28ประเด็น รับ 'โควิด'

ทิศทางแผนการศึกษาชาติปรับ 7 เรื่อง 28ประเด็น รับ ‘โควิด’ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีความตั้งใจที่จะปรับปรุงร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติพ.ศ. 2562 ให้มีความครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของการปรับการเรียนการสอนในทุกภาคส่วน

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของการจัดการศึกษาที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีการปรับการเรียนการสอนที่เน้นการเรียนออนไลน์มากขึ้น หรือการปรับแนวทางของอาชีวศึกษาเพื่อที่จะทำหน้าเป็นกลไกหลัก ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีฝีมือให้เข้ามาเป็นแรงงานรองรับการขยายตัวของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

เพราะหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย น่าจะมีการย้ายฐานการลงทุน และจะมีการเกิดธุรกิจใหม่ ๆ  โดยเฉพาะเรื่องของสาธารณสุข  โดยแผนปฏิรูปการศึกษาที่นำมาปรับปรุงนั้นเป็นแผนการปฏิรูปการศึกษาที่ทางคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ซึ่งมี “นพ.จรัส สุวรรณเวลา”เป็นประธาน ได้เสนอไว้ 7 เรื่องหลัก 28 ประเด็น 

ทิศทางแผนการศึกษาชาติปรับ 7 เรื่อง 28ประเด็น รับ 'โควิด'
ทิศทางแผนการศึกษาชาติปรับ 7 เรื่อง 28ประเด็น รับ ‘โควิด’
ภาพ : กรุงเทพธุรกิจ

เรื่องที่ 1 การปฏิรูประบบการศึกษาและการเรียนรู้โดยรวมของประเทศ โดย พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และกฎหมายลำดับรอง ได้แก่ 1.การยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ 2.การสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อจัดการศึกษา โดยสนับสนุนให้ท้องถิ่นจัดการศึกษาเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็เพิ่มบทบาทภาคเอกชนร่วมจัดการศึกษาในรูปแบบโรงเรียนประชารัฐและโรงเรียนร่วมพัฒนา 3.การขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาตนเองและการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อรองรับการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต 4.การทบทวนและปรับปรุงแผนการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งต้องให้ทันกับสากล และสนองต่อการพัฒนาประเทศ 5.การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ

เรื่องที่ 2 การปฏิรูปการพัฒนาเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน ซึ่ง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2562 ได้ประกาศใช้แล้ว ได้แก่ 1.การพัฒนาระบบการดูแล พัฒนา และจัดการเรียนรู้เพื่อให้เด็กปฐมวัยได้พัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม สติปัญญาให้สมกับวัย 2.การสื่อสารสังคมเพื่อสร้างความเข้าใจในการพัฒนาเด็กปฐมวัย

เรื่องที่ 3 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยมี พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.2561 เป็นหลัก ซึ่งจะต้องดำเนินการดังนี้ 1.การดำเนินการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 2.การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลพิการ บุคคลที่มีความสามารถพิเศษ และบุคคลที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ 3.การยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล หรือในสถานศึกษาที่ต้องมีการยกระดับคุณภาพอย่างเร่งด่วน

เรื่องที่ 4 การปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ ซึ่งได้แก่ 1.การผลิตครูและการคัดกรองครู เพื่อให้ได้ครูที่มีคุณภาพตรงกับความ ต้องการของประเทศ และมีจิตวิญญาณของความเป็นครู โดยโรงเรียนควรมีส่วนร่วมในการคัดเลือกครูด้วย 2.การพัฒนาวิชาชีพครู 3.เส้นทางวิชาชีพครู เพื่อให้ครูมีความก้าวหน้า ได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสม 4.การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาในสถานศึกษา 5.องค์กรวิชาชีพครู และปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยปรับบทบาทหน้าที่ของคุรุสภา องค์การค้า คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ให้สนองตอบต่อการพัฒนาการศึกษา

เรื่องที่ 5 การปฏิรูปหลักสูตร การเรียนรู้ และการประเมินผลการศึกษา โดยมีประเด็นการปฏิรูปดังนี้ 1.การปรับหลักสูตรเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ แทนการใช้ฐานเนื้อหาสาระ ขณะที่ครูต้องปรับจากการเป็นแหล่งความรู้ ให้เป็นผู้จัดการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ 2.การจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรม 3.การประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาระดับชาติและระบบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ 4.ระบบความปลอดภัย และระบบสวัสดิภาพของผู้เรียน เช่น อุบัติเหตุในโรงเรียน ความรุนแรง ภัยพิบัติ และโรคติดต่อ เป็นต้น 5.การปฏิรูปอาชีวศึกษา เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 6.การปฏิรูปอุดมศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ประสิทธิภาพและธรรมาภิบาลของระบบอุดมศึกษา 7.การจัดตั้งสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้แห่งชาติ

เรื่องที่ 6 การปรับโครงสร้างของหน่วยงานในระบบการศึกษา เพื่อบรรลุเป้าหมายการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนและยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา ดังนี้ 1.สถานศึกษามีความเป็นอิสระในการบริหารและจัดการศึกษา 2.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ตามที่ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 กำหนด 3.การปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการให้มีเอกภาพ มีธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบต่อการจัดการศึกษาทุกระดับ

เรื่องที่ 7 การปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล ในเรื่องต่างๆ ได้แก่ 1.การปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลแห่งชาติ 2.ระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา 3.การพัฒนาความเป็นพลเมืองดิจิทัล

รวมกับข้อเสนอคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาเฉพาะกิจ เพื่อการจัดทำข้อเสนอการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ที่มี “ศรีราชา วงศารยางค์กูร” เป็นประธานนั้น ชัดเจนสอดคล้องปี 2563-2565

ล่าสุดสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้ประชุมสภาการศึกษาโดยมี “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิจารณาแผนปฏิรูปการศึกษา ที่ประชุมได้มีการหารือถึงการพัฒนาเทคโนโลยี ระบบไอที ซึ่งสภาการศึกษาได้ทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ในการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อทำให้เป็นมาตรฐานการศึกษาชาติ 

โดยจะมีการจัดทำเนื้อหา สื่อ ที่หลากหลาย ทั้งสื่อเดิมที่สพฐ.ทำไว้ให้ ตรงกับมาตรฐานชาติเพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยพัฒนาครูรวมถึงต้นแบบ จะมีการเปิดโอกาสให้ครู และนักเรียนที่มีความสามารถในการจัดทำสื่อ เนื้อหาเก่งๆ ส่งตัวอย่าง ส่งสื่อ เนื้อหาที่ผลิตขึ้น เข้ามาประกวด เป็นส่วนหนึ่งในการให้คะแนนวิทยฐานะแก่ครู และการพัฒนาเด็ก เพื่อให้ครูต้องแข่งขันกันผลิตสื่อ จัดทำเนื้อหา จะทำให้เกิดการพัฒนากระบวนการเรียนการสอน สื่อ นวัตกรรมที่นำมาใช้จัดการศึกษา

ขอบคุณที่มา : เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 5 สิงหาคม 2563

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่