นวัตกรรมการศึกษา คืออะไร ? อะไรบ้างที่เป็นนวัตกรรม ?
ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้เกิดสิ่งประดิษฐ์ หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมากมายในแทบทุกวงการ โดยนวัตกรรมต่างๆ ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ทำให้ชีวิตสะดวกรวดเร็วมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยสร้างโอกาสในการเข้าถึงข่าวสารความรู้ บทความนี้ ครูอาชีพดอทคอม จะพาไปทำความรู้จักความหมาย และประเภทของนวัตกรรมให้มากขึ้น โดยเฉพาะนวัตกรรมด้านการศึกษา ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้านการศึกษาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น โปรแกรมสำหรับเรียนออนไลน์ทางไกล ช่วยให้นักเรียนในพื้นที่ห่างไกลได้เข้าถึงชุดข้อมูลความรู้, แอปพลิเคชันแปลภาษา ตัวช่วยในการเรียนภาษาที่ 2 และ 3 รวมไปถึงการนำ AI และหุ่นยนต์มาประยุกต์ใช้ในการสอน เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการและความคิดสร้างสรรค์ให้กับผู้เรียน ทั้งนี้ นวัตกรรมการศึกษาในปัจจุบันก็ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงเฉพาะในด้านการศึกษา เรายังจะได้ประโยชน์จากการเกิดใหม่ของนวัตกรรมด้านต่างๆ ที่มีต่อชีวิตประจำวัน หลายนวัตกรรมสามารถช่วยแก้ปัญหาในชีวิตได้อย่างง่ายดาย อีกทั้งเมื่อนำมาประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ อย่างเหมาะสม ก็สามารถโอกาสประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้พวกเรามากขึ้นด้วยเช่นกัน.
นวัตกรรมทางการศึกษา
สิ่งประดิษฐ์ด้านการศึกษา ช่วยส่งเสริมให้การเรียนการสอนสะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเกิดปัจจัยที่ทำให้ไม่สามารถจัดการเรียนแบบปกติได้ แต่นวัตกรรมด้านการศึกษาจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในส่วนนี้ได้ เช่น โปรแกรมสำหรับเรียนออนไลน์ทางไกล ช่วยให้นักเรียนในพื้นที่ห่างไกลได้เข้าถึงชุดข้อมูลความรู้, แอปพลิเคชันแปลภาษา ตัวช่วยในการเรียนภาษาที่ 2 และ 3 รวมไปถึงการนำ AI และหุ่นยนต์มาประยุกต์ใช้ในการสอน เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการและความคิดสร้างสรรค์ให้เด็กๆ เป็นต้น นวัตกรรมทางการศึกษา (Educational Innovation) เป็นคำศัพท์เทคโนโลยีการศึกษาซึ่งนักการศึกษาได้ใช้คำศัพท์บัญญัติวิชาการ 2 ลักษณะ คือ นวัตกรรมการศึกษา และนวัตกรรมทางการศึกษา ในบทเรียนนี้ ใช้คำว่านวัตกรรมทางการศึกษาด้วยเหตุว่าเป็นคำที่สื่อความหมายได้อย่างชัดเจนและได้รับความนิยมใช้ในปัจจุบัน
ความหมายของนวัตกรรมทางการศึกษา
นวัตกรรมการศึกษา หมายถึ’ การนำแนวคิด วิธีการปฏิบัติ หรือสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับการพัฒนา ปรับปรุงหรือดัดแปลงให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับการนำมาใช้ในการจัดการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแก้ไขปัญหา เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล และก่อให้เกิดความสำเร็จสูงสุดแก่ผู้เรียน อัญชลี โพธิ์ทอง และอัปษรศรี ปลอดเปลี่ยว (2542 : 9), อรนุช ลิมตศิริ (2543 : 3)
แนวคิดพื้นฐานของนวัตกรรมทางการศึกษา
นวัตกรรมทางการศึกษาได้รับการพัฒนาขึ้นโดยได้รับอิทธิพลจากแนวคิดพื้นฐาน 4 ประการ คือ
(1) แนวคิดด้านความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual Difference) หลักการจัดการศึกษาในปัจจุบันมุ่งเน้นจัดการศึกษาตามความสนใจและความสามารถของผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งนักการศึกษาได้พัฒนาวิธีการใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนใช้ความสามารถในการเรียนรู้ที่แต่ละคนมีความแตกต่างกันให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ให้มากที่สุด
นวัตกรรมทางการศึกษาที่เกิดจากแนวคิดด้านความแตกต่างระหว่างบุคคล ได้แก่ การจัดการเรียนรู้แบบไม่แบ่งชั้น บทเรียนสำเร็จรูป ชุดการสอน การสอนเป็นคณะ การใช้เครื่องช่วยสอน การจัดโรงเรียนในโรงเรียน เป็นต้น
(2) แนวคิดด้านความพร้อม (Readiness) การจัดบทเรียนให้มีความเหมาะสมกับระดับความสามารถของผู้เรียนโดยการปรับปรุงลำดับของเนื้อหา หรือนำนวัตกรรมการศึกษาที่เหมาะสมกับการสร้างความพร้อมจะทำให้การจัดการเรียนรู้ประสบความสำเร็จ
นวัตกรรมทางการศึกษาที่เกิดจากแนวคิดด้านความพร้อม ได้แก่ ศูนย์การเรียน การจัดโรงเรียนในโรงเรียน การสอนรวมชั้น เป็นต้น
(3) แนวคิดด้านการใช้เวลาเพื่อการศึกษา เป็นการกำหนดเวลาในการจัดการเรียนรู้ให้สัมพันธ์กับลักษณะเฉพาะของแต่ละวิชา
นวัตกรรมทางการศึกษาที่เกิดจากแนวคิดด้านการใช้เวลาเพื่อการศึกษา ได้แก่ การจัดตารางสอนแบบยืดหยุ่น มหาวิทยาลัยเปิด แบบเรียนสำเร็จรูป การเรียนทางไปรษณีย์ บทเรียนโปรแกรมชุดการเรียน เป็นต้น
(4) แนวคิดด้านการขยายตัวทางวิชาการและอัตราการเพิ่มประชากร เป็นการเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้แก่ประชากรซึ่งอาจมีข้อจำกัดทางการเรียนรู้บางประการ
นวัตกรรมทางการศึกษาที่เกิดจากแนวคิดด้านการขยายตัวทางวิชาการและอัตราการเพิ่มประชากร ได้แก่ มหาวิทยาลัยเปิด การเรียนทางวิทยุ การเรียนทางโทรทัศน์ การเรียนทางไปรษณีย์ แบบเรียนสำเร็จรูป ชุดการเรียน การจัดโรงเรียนสองผลัด บทเรียนโปรแกรม เป็นต้น
ลักษณะของนวัตกรรมทางการศึกษา
นวัตกรรมทางการศึกษา เป็นการนำแนวคิดวิธีการมาใช้ในการจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมกิจกรรมการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มีลักษณะสำคัญ คือ
(1) เป็นแนวความคิดที่ไม่ยังไม่มีการนำมาปฏิบัติในวงการศึกษาและอาจเป็นสิ่งใหม่บางส่วนหรือเป็นสิ่งใหม่ทั้งหมดซึ่งใช้ได้ไม่ได้ผลในอดีตซึ่งได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น เช่น การนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการจัดการเรียนรู้
(2) เป็นแนวความคิดหรือแนวทางปฏิบัติในลักษณะใหม่ซึ่งดัดแปลงจากแนวความคิดหรือแนวทางปฏิบัติเดิมที่ปฏิบัติไม่ประสบความสำเร็จให้มีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบันและก่อให้เกิดความสำเร็จได้ และมีการจัดระบบขั้นตอนการดำเนินงาน (System Approach) โดยการพิจารณาข้อมูล กระบวนการ และผลลัพธ์ ให้เหมาะสมก่อนทำการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ
(3) เป็นแนวความคิดหรือแนวทางปฏิบัติซึ่งมีมาแต่เดิมและได้รับการปรับปรุงให้มีลักษณะทันสมัยและได้รับการพิสูจน์ประสิทธิภาพด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์หรืออยู่ระหว่างการวิจัย
(4) เป็นแนวความคิดหรือแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ซึ่งเอื้ออำนวยให้เกิดความสำเร็จยิ่งขึ้น เช่น การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง
(5) เป็นแนวความคิดหรือแนวทางปฏิบัติที่ค้นพบใหม่อย่างแท้จริงซึ่งยังไม่ได้ทำการเผยแพร่หรือได้รับการยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของระบบงานในปัจจุบัน
ประเภทของนวัตกรรมทางการศึกษา
นักการศึกษาได้แบ่งประเภทของนวัตกรรมทางการศึกษาตามจุดเน้นของการพัฒนาการจัดการศึกษาหลายลักษณะ
วุทธิศักดิ์ โภชนุกูล (2550 : 8) อธิบายว่า นวัตกรรมทางการศึกษา แบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ
(1) นวัตกรรมทางด้านหลักสูตร เช่น หลักสูตรบูรณาการ หลักสูตรรายบุคคล หลักสูตรกิจกรรมและประสบการณ์ หลักสูตรท้องถิ่น
(2) นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ เช่น การสอนแบบศูนย์การเรียน การใช้กระบวนการกลุ่มสัมพันธ์ การสอนแบบเรียนรู้ร่วมกัน และการเรียนผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต กระบวนการสร้างความตระหนัก กระบวนการสร้างเจตคติ กระบวนการสร้างความคิดรวบยอด กระบวนการปฏิบัติ กระบวนการสืบสอบ กระบวนการสร้างทักษะการคิดคำนวณ การสอนแบบศูนย์การเรียน การสอนแบบใช้ บทบาทสมมติ การสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง การเรียนแบบสัญญาการเรียน การเรียนเป็นคู่ การเรียนเพื่อรอบรู้ การเรียนแบบร่วมมือ เป็นต้น
(3) นวัตกรรมสื่อการสอน เช่น Computer Assisted Instruction (CAI), Web-based Instruction (WBI) Web-based Training (WBT) Virtual Classroom (VC) Web Quest Web Blog บทเรียนสำเร็จรูป บทเรียนโมดูล บทเรียนออนไลน์ คอมพิวเตอร์ช่วยสอน ชุดการสอน จุลบท ชุดสื่อประสม วีดิทัศน์ สไลด์ประกอบเสียง แผ่นโปร่งใส บัตรการเรียนรู้ บัตรกิจกรรม แบบฝึกทักษะ เกม เพลง เป็นต้น
(4) นวัตกรรมการประเมินผล เช่น การพัฒนาคลังข้อสอบ การลงทะเบียนผ่านทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต การใช้บัตรสมาร์ทการ์ดเพื่อการใช้บริการของสถาบันศึกษา การใช้คอมพิวเตอร์ในการตัดเกรด
(5) นวัตกรรมการบริหารจัดการ เช่น ฐานข้อมูล นักเรียน นักศึกษา ฐานข้อมูล คณะอาจารย์ และบุคลากร ในสถานศึกษา ด้านการเงิน บัญชี พัสดุ และครุภัณฑ์
มหาวิทยาลัยรังสิต (2549 : 1) กล่าวว่า นวัตกรรมทางการศึกษาด้านการจัดการเรียนรู้ที่ครูผู้สอนสร้างหรือพัฒนาขึ้นเพื่อพัฒนาหรือปรับปรุงแก้ไขปัญหาการจัดการเรียนรู้ แบ่งได้ 2 ประเภท คือ
(1) กิจกรรมการพัฒนาการเรียนรู้หรือเทคนิควิธีสอน (Instruction) เช่น บทเรียนสำเร็จรูป ชุดการเรียนการสอน ชุดฝึก แบบฝึก แผนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นรูปแบบการสอน, กิจกรรมการเรียนรู้, หรือกระบวนการเรียนรู้ ชุดพัฒนาคุณลักษณะ เป็นต้น
(2) สื่อการเรียนรู้หรือสิ่งประดิษฐ์ (Invention) เช่น สื่อประสม วีดิทัศน์ แบบจำลอง รูปภาพ, แผ่นโปร่งใส, แผนภาพ เกมประดิษฐ์หรือเกมฝึกทักษะ เป็นต้น
สำหรับนวัตกรรมทางการศึกษาที่เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในระดับชั้นเรียน แบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก คือ ประเภทกิจกรรมการพัฒนาการเรียนรู้และเทคนิควิธีสอน (Learning and Instruction) และประเภทสื่อการเรียนรู้หรือสิ่งประดิษฐ์ (Invention)
กระบวนการพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา
กระบวนการพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา แบ่งเป็น 3 ขั้นตอนหลัก คือ
(1) การประดิษฐ์คิดค้น เป็นขั้นตอนการศึกษาสภาพปัญหาและการคิดค้นเพื่อกำหนดรูปแบบนวัตกรรมที่ใช้ในการปรับปรุงแก้ไขปัญหา โดยพิจารณาความเป็นไปได้ตามหลักการที่เกี่ยวข้อง
(2) การสร้างและพัฒนานวัตกรรม เป็นขั้นตอนการจัดทำนวัตกรรมตามรูปแบบที่กำหนด จากขั้นตอนที่ 1 สำหรับวิธีพัฒนานวัตกรรมอาจทำได้หลายวิธี ซึ่งวิธีที่ได้รับความนิยมและได้รับความเชื่อถือ คือ การทดลองเพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพของนวัตกรรมในการแก้ปัญหาหรือพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้
(3) การยอมรับและนำนวัตกรรมไปใช้ เป็นขั้นตอนการยอมรับนวัตกรรมที่ได้สร้างและพัฒนาขึ้น และนำนวัตกรรมนั้นไปใช้ปรับปรุง แก้ไข และพัฒนาการจัดการเรียนรู้ ในสถานการณ์และสภาพแวดล้อมปกติ
บทสรุป
นวัตกรรมทางการศึกษา เป็นการนำแนวคิด วิธีการปฏิบัติ หรือสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับการพัฒนาให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับการนำมาใช้ในการจัดการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหา เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล และก่อให้เกิดความสำเร็จสูงสุดแก่ผู้เรียน
โดยทั่วไป นวัตกรรมทางการศึกษาจัดแบ่งได้ 2 ระดับ คือ (1) ระดับหน่วยงานการศึกษา (หน่วยงานทางการศึกษา หรือ สถานศึกษา), (2) ระดับชั้นเรียน สำหรับนวัตกรรมทางการศึกษาที่เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในระดับชั้นเรียน แบ่งเป็น 2 ประเภทย่อย คือ ประเภทกิจกรรมการพัฒนาการเรียนรู้และเทคนิควิธีสอน (Learning and Instruction) และประเภทสื่อการเรียนรู้หรือสิ่งประดิษฐ์ (Invention)
ซึ่งในปัจจุบัน เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องส่งอิทธิพลอย่างเข้มข้นต่อการพัฒนานวัตกรรม นักการศึกษาและผู้ประกอบการทางการศึกษาจึงสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อลดข้อจำกัดในการเรียนรู้, สร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้, และเพิ่มความสำเร็จในการเรียนรู้ อาทิ โปรแกรมสร้างแบบทดสอบ (Online Test), โปรแกรมแปลงรูปภาพเป็นอักษร OCR (Optical Character Recognition), โปรแกรมการประชุมทางไกล (Video Conference), โปรแกรมควบคุมคอมพิวเตอร์ระยะไกล (Remote Desktop Connection), โปรแกรมจัดการเอกสารร่วมกัน (Collaboration Tools), ฯลฯ ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนอันทรงพลังที่นักการศึกษาควรทำความรู้จักเพื่อนำไปปรับใช้ในการออกแบบนวัตกรรมทางการศึกษาและอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน
ประโยชน์ และความสำคัญของนวัตกรรมทางการศึกษา มีอะไรบ้าง
ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่หยุดคิดค้น และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ นวัตกรรมก็ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง นอกจากเราจะมีสินค้าและบริการที่มีคุณภาพมากขึ้นแล้ว เรายังจะได้ประโยชน์จากการเกิดใหม่ของนวัตกรรมด้านต่างๆ ที่มีต่อชีวิตประจำวัน หลายนวัตกรรมสามารถช่วยแก้ปัญหาในชีวิตได้อย่างง่ายดาย อีกทั้งเมื่อนำมาประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ อย่างเหมาะสม ก็สามารถเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ สินค้า และบริการได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน.
ที่มา :
- www.jba.tbs.tu.ac.th
- https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2225171
- ทำความรู้จัก นวัตกรรมการศึกษา (Educational Innovation) (learneducation.co.th)