พระบรมราโชบายด้านการศึกษา ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในหลวงรัชกาลที่ 10
กระทรวงศึกษาธิการ จะน้อมนำพระ บรม ราโชบายด้านการศึกษา ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในหลวงรัชกาลที่ 10 ใส่เกล้าฯ และยึดมั่นปฏิบัติเป็นหลักในการพัฒนาการศึกษาของชาติให้เจริญก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม
โดยการจัดการศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน คือ
1) มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง ข้อนี้มีคำขยายว่า ต้องมีความรู้ความเข้าใจที่มีต่อชาติบ้านเมือง ยึดมั่นในศาสนา มั่นคงในสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีความเอื้ออาทรต่อครอบครัวและชุมชนของตน
2) มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรมจริยธรรม ข้อนี้มีคำขยายว่า ให้รู้จักแยกแยะสิ่งที่ผิด-ที่ถูก สิ่งชั่ว-สิ่งดี เพื่อปฏิบัติแต่สิ่งที่ชอบที่ดีงาม ปฏิเสธสิ่งที่ผิดที่ชั่ว เพื่อสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง
3) มีงานทำ มีอาชีพสุจริต ข้อนี้มีคำขยายว่า ต้องให้เด็กรักงาน สู้งาน ทำงานจนสำเร็จ อบรมให้เรียนรู้การทำงาน ให้สามารถเลี้ยงตัวและเลี้ยงครอบครัวได้
4) เป็นพลเมืองดี ข้อนี้มีคำขยายว่า การเป็นพลเมืองดีเป็นหน้าที่ของทุกคน สถานศึกษาและสถานประกอบการต้องส่งเสริมให้ทุกคนมีโอกาสทำหน้าที่พลเมืองดี การเป็นพลเมืองดีหมายถึงการมีน้ำใจ มีความเอื้ออาทร ต้องทำงานอาสาสมัคร งานบำเพ็ญประโยชน์ “เห็นอะไรที่จะทำเพื่อบ้านเมืองได้ก็ต้องทำ”
พระบรมราโชบายทั้งหมดนี้ ไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินกว่าครูจะทำและสั่งสอนศิษย์ให้ทำได้ หากครูตั้งใจสร้างศิษย์ให้ได้ผลตามพระบรมราโชบายทั้ง ๔ ข้อนี้ก็จะทำให้ชาติบ้านเมืองเจริญ ไม่มีคนที่นิ่งดูดายปล่อยให้เกิดความชั่ว ความไม่ดีในบ้านเมือง ที่สำคัญประการหนึ่งคือ การรู้จักแยกแยะสิ่งที่ถูกที่ผิด สิ่งที่ดีที่ชั่ว และเลือกรับเลือกทำแต่ทางที่ถูกที่ดี เด็กไทยควรรู้จักใช้วิจารณญาณของตน ไม่ตามแฟชั่นตามสังคมโดยไร้สติ. อีกประการหนึ่งที่ควรน้อมนำมาใส่เกล้าฯ คือ พระบรมราโชบายที่ว่า เห็นอะไรที่ควรทำเพื่อบ้านเมืองก็ต้องทำ คนไทยเห็นอะไรที่ควรทำเพื่อบ้านเมืองก็ต้องลงมือทำ ไม่ปล่อยให้ผ่านไปด้วยความคิดว่า “ธุระไม่ใช่”
ขอบคุณที่มา : เว็บไซต์ ศธ360องศา | เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ