พีระมิดแห่งการเรียนรู้ (Learning Pyramid) พฤติกรรมแบบไหนที่ช่วยให้เราเรียนรู้ได้ดีที่สุด
พีระมิดแห่งการเรียนรู้ หรือ Learning Pyramid เริ่มต้นศึกษาและพัฒนาโดย National Training Laboratories ตั้งแต่ช่วงปี 1960s เป็นเหมือนแนวคิดที่ทำให้เราเห็นภาพว่า ‘กิจกรรมแบบไหน’ ทำให้เราสามารถเรียนรู้ ซึมซับ และจดจำข้อมูลได้ดีที่สุด
ถ้ารู้เรื่อง Learning Style ของแต่ละคน จะช่วยให้เข้าใจเรื่องนี้ได้ดียิ่งขึ้น เพราะนอกจากพีระมิดนี้แล้ว ความถนัดของแต่ละคนก็ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ด้วยวิธีที่แตกต่างกัน
1. Visual เรียนรู้ผ่านการมอง
2. Auditory เรียนรู้ผ่านการฟัง
3. Read/Write เรียนรู้ผ่านการเขียน-อ่าน
4. Kinesthetic เรียนรู้ผ่านการลองทำ
เอาล่ะ เรามาดูกันก่อนดีกว่าว่า จากแนวคิด Learning Pyramid พฤติกรรมแบบไหนที่จะช่วยให้เราเรียนรู้ได้ดีที่สุด
การเรียนในห้อง (Lecture) <10%
การเรียนรู้ที่เราทำกันเป็นประจำคือการเรียนในห้อง อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนจะเป็นกิจกรรมที่เราได้เรียนรู้น้อยที่สุด การนั่งฟังอาจารย์สอนอาจไม่ให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพเสมอไป ซึ่งเราก็น่าพอมีประสบการณ์ในส่วนนี้กันดี แต่ถ้าอยากให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้เรียนควรเตรียมตัวมาอย่างดี ควรมีการถกเถียงในห้อง และมีการจดข้อมูลที่เป็นระบบ
การอ่าน (Read) 10%
การอ่านเป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมพื้นฐานสำหรับการเรียนรู้ แต่ดูเหมือนจะเป็นกิจกรรมที่ไม่ค่อยให้ผลลัพธ์ที่ดีเท่าไหร่นัก อาจเป็นเพราะว่าคนไม่ค่อยชอบการอ่านหนังสือเชิงวิชาการกันอยู่แล้ว (ยกเว้นคนที่เป็น Visual Learner การอ่านจะมีประสิทธิภาพมากกว่าคนในกลุ่มอื่น)
การได้ฟังและได้เห็น (Audio/Visual) 20%
ไม่ว่าจะเป็นภาพ วิดีโอ เสียง หรือแผนภูมิ นับว่าเป็นตัวช่วยสำคัญที่ประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนกันมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะเป็นการเรียนรู้เพียงแค่ 20% แต่ในอนาคตการเรียนรู้แบบนี้น่าจะเติบโตอีกมากตามเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ามากขึ้น ที่สำคัญ สื่อเหล่านี้ยังช่วยให้เราเข้าใจในเนื้อหาที่มีความซับซ้อนหรือยากได้ดีขึ้น เช่น สารคดีที่หยิบยกการนำเสนอแบบภาพมาใช้ ด้วยการผนวกภาพจริง กราฟิก และโมชั่นเข้าด้วยกัน อย่าง Vox (https://bit.ly/2Dhu1ZY) หรือซีรีส์ Explained (https://bit.ly/2QF8Eok)
การสาธิต (Demonstration) 30%
ถ้าเราได้เห็นตัวอย่างจริง จะทำให้การเรียนรู้ของเราได้ผลมากขึ้น อาทิ การดูสาธิตวิธีสำรวจในพื้นที่การทำงานจริง การสาธิตอาจเป็นวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุดในกรณีที่เป็นเรื่องการลงมือทำ
ถกเถียง-หารือ (Discussion) 50%
การได้ออกความคิดเห็น ได้ถกเถียงในองค์ความรู้ กิจกรรมนี้ทำให้ผู้เข้าร่วมได้มีส่วนร่วม ได้ใช้ความคิด ได้มีความเชื่อมโยงกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า แน่นอนว่ามันทำให้คุณได้เรียนรู้มากขึ้นอีกด้วย
ลงมือปฏิบัติ (Practice) 75%
การได้ลงมือทำนับว่าเป็นการเรียนรู้ยอดนิยม และหลายฝ่ายก็เชื่อว่าเราจะจดจำข้อมูลต่างๆ ได้ดี เพราะเราจะได้เจอปัญหาจริง ได้ลองทำจริง ได้แก้ไขสถานการณ์ผ่านของจริง ที่สำคัญการได้ลงมือทำ จะทำให้ข้อมูลและความรู้เหล่านั้นถูกย้ายไปไว้ในส่วนของความจำในระยะยาว ซึ่งช่วยให้เราได้เรียนรู้เชิงลึกและจดจำได้ดีขึ้นนั่นเอง
สอน (Teach) 90%
การสอนนับว่าเป็นการเรียนรู้ที่ดีที่สุด แต่หลายคนอาจจะมองข้ามเรื่องนี้ไป ถ้าสังเกตให้ดี เวลาเราจะสอนเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ เราต้องมีความเข้าใจเรื่องนั้นอย่างทะลุปรุโปร่ง หาคำอธิบายที่ง่าย ยิ่งคุณสอนมากขึ้น คุณจะยิ่งได้เรียนรู้มากขึ้นนั่นเอง
เราจะเห็นเลยว่าในส่วนแรก (การเรียนในห้อง การอ่าน การได้ฟังและได้เห็น การนำเสนอ) เป็นการเรียนรู้ในเชิงรับ (Passive) ซึ่งจะเป็นกิจกรรมที่เราไม่ค่อยได้เรียนรู้อะไรสักเท่าไหร่นัก เพราะมันเป็นการรับรู้จากคนอื่นแล้วค่อยเปลี่ยนแปลงมาเป็นความรู้ในแบบของเรา
สำหรับในส่วนที่สอง (การนำเสนอ ถกเถียง-หารือ ลงมือปฏิบัติ สอน) เป็นการเรียนรู้ในเชิงรุก (Active) ที่ต้องผ่านกระบวนการเข้าใจ ก่อนที่จะสะท้อนออกไปสู่ผู้อื่น ซึ่งเราจะเห็นเลยว่าในส่วนที่สองเป็นกิจกรรมทางการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพกว่านั้นเอง
การเรียนรู้ที่ดี อาจไม่ได้เป็นเพียงแค่การเรียนในห้องหรือการอ่านหนังสือก็ได้ ถ้าเราเรียนรู้เรื่องอะไรมา ก็อย่าลืมแจกจ่ายออกไป เพื่อที่เราจะได้เข้าใจเรื่องนั้นได้อย่างชัดเจนขึ้นด้วย
อ้างอิง: Education corner. The Learning Pyramid. https://bit.ly/2Y8jtDM
ขอบคุณที่มา : Facebook BrandThink