ย้อนดูการศึกษาไทยในปี 2563 "ปีหนู สู่ปีวัวพันธุ์ดี" ปีแห่งสมรรถนะ

ย้อนดูการศึกษาไทยในปี 2563 “ปีหนู สู่ปีวัวพันธุ์ดี” ปีแห่งสมรรถนะ ปี 2563 กำลังจะผ่านไป เป็นปีแห่งการปรับตัวและมองเห็นความท้าทายของการศึกษาในรูปแบบใหม่ คุณครูหลายท่านต้องเปลี่ยนบทบาทตัวเองให้ไฉไลสอดรับกับพฤติกรรมการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลง หากมองย้อนไปตั้งแต่ช่วงต้นปีใช่ว่าจะผ่านไปได้ง่าย ๆ เพราะเกิดปรากฏการณ์และวิกฤตการณ์ทั้งเก่าและใหม่ ให้คุณครูไทยของเราต้องฝ่าฟันกันมากเหลือเกิน บทความนี้ ครูอาชีพดอทคอม ขอนำเสนอบทความ ย้อนดูการศึกษาไทยในปี 2563 “ปีหนู สู่ปีวัวพันธุ์ดี” ปีแห่งสมรรถนะ ขอบคุณข้อมูลจาก อักษรเจริญทัศน์ ครับ

ปิดโรงเรียนตั้งแต่เดือนแรกของปี จากฝุ่น PM 2.5

เริ่มจากศึกเบา ๆ กันตั้งแต่ต้นปี ปัญหาฝุ่นละองและหมอกควัน PM 2.5 ที่ค่าเกินมาตรฐานลุกลามจากปี 2562 สร้างผลกระทบครอบคลุมในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อวิถีการใช้ชีวิตและดูแลสุขภาพของคนไทยทั้งประเทศ สุดท้ายหลายโรงเรียนมีประกาศปิดการเรียนชั่วคราวทำให้การสอนต้องหยุดชะงัก งานเข้าคุณครูต้องจัดสรรตารางเวลาเรียนกันใหม่เพื่อชดเชยที่หยุดไปสำหรับเหตุการณ์ในครั้งนี้

ย้อนดูการศึกษาไทยในปี 2563 “ปีหนู สู่ปีวัวพันธุ์ดี” ปีแห่งสมรรถนะ

วิกฤตไวรัสโควิด – 19

“โรงเรียนอาจหยุดได้ แต่การเรียนรู้หยุดไม่ได้”

นายณัฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ย้อนดูการศึกษาไทยในปี 2563 “ปีหนู สู่ปีวัวพันธุ์ดี” ปีแห่งสมรรถนะ

เวลาผ่านไปยังไม่ทันข้ามเดือน วิกฤต PM. 2.5 ไม่ทันจะจางหาย วิกฤตใหม่ก็เข้ามาแทนที่ เมื่อองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ลงมติประกาศว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่เป็นภัยพิบัติฉุกเฉินระดับโลกในวันที่ 31 มกราคม 2563 สร้างความตื่นตระหนกให้กับคนทุกวงการ โรงเรียนหลายแห่งทั่วโลกประกาศงดการเรียนการสอน ร้อนมาถึงประเทศไทย นายณัฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ออกประกาศปิดการเรียนการสอนชั่วคราวทุกสถานศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นเหตุพิเศษตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 และตามมาด้วยมติครม.ประกาศเลื่อนเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2563 ออกไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 พร้อมนโยบายชัดเจนที่ต้องการให้การเรียนการสอนต้องดำเนินต่อไป แม้ว่าโรงเรียนจะไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนจากที่โรงเรียนได้ตามปกติ

New Normal นิยามการศึกษายุคใหม่สู่ความท้าทายและการปรับตัว

หากพิจารณาแล้ววิกฤตไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ทำให้สถาบันการศึกษาทั่วโลกเริ่มปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้ไปสู่การเรียนรู้ในรูปแบบของออนไลน์อย่างเป็นรูปธรรม และนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการต่อยอดการศึกษาในอนาคต พฤติกรรมของครูไทยเราเองก็เปลี่ยนไปโรงเรียนหลายแห่งพร้อมใช้เทคโนโลยีมากขึ้น และเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นของนวัตกรรมเพื่อการศึกษาในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งหากมองในแง่ดี วิกฤตครั้งนี้อาจเป็นเหมือนเคมีเร่งปฏิกิริยาให้โรงเรียนและครูไทยก้าวเข้าสู่การศึกษาในรูปแบบใหม่ แม้ยังขาดทักษะและความชำนาญในการใช้เทคโนโลยีอยู่บ้าง แต่สิ่งสำคัญคือการได้เริ่มก้าวไปสู่การเรียนรู้สิ่งใหม่ เพื่อผลลัพธ์สำคัญสุดท้ายคือเด็กไทย ผู้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนอนาคตของชาตินั่นเอง

ทางเลือกใหม่ของการเรียนรู้ กับแพลตฟอร์มออนไลน์

เพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดการเรียนรู้นอกห้องเรียน หลายค่ายทั้งในไทยและต่างประเทศพร้อมใจกันเปิดตัวแพลตฟอร์มการเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์กันมากขึ้น ล่าสุดกระทรวงศึกษาธิการนำเสนอแพลตฟอร์มด้านการศึกษาใหม่ภายใต้ชื่อ DEEP (Digital Education Excellence Platform) ซึ่งถือเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยสร้างความเท่าเทียมของระบบการศึกษา สร้างความยืดหยุ่นในการเรียนการสอน เกิดมิติการสร้างห้องเรียนแบบใหม่ Flipped Classroom หรือ ห้องเรียนกลับด้านที่ถูกนำมาเป็นโมเดลสำคัญเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ ฝึกฝน และค้นคว้าข้อมูลได้ด้วยตนเอง โดยได้รับการสนับสนุนจากทางภาคเอกชนหลายแห่ง อักษร เอ็ดดูเคชั่น เองก็ได้รับเกียรติในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนแพลตฟอร์มด้านการศึกษาดังกล่าว ด้วยการเชื่อมต่อเข้ากับระบบของ Aksorn On-Learn ดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษาซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนทั้งผู้เรียนและผู้สอน มาในรูปแบบของ e-Book และคลิปวิดีโอ ใช้สื่อประกอบการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ สื่อการเรียนรู้ Interactive 3D สื่อการเรียนรู้ Interactive Software ภาพยนตร์สารคดีสั้นเพื่อการศึกษา สไลด์ประกอบการสอน ไฟล์เสียงประกอบการสอน ทำให้ผู้เรียนเรียนสนุก ผู้สอนสอนสะดวก และสามารถจัดตารางการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง

ปีการศึกษาใหม่ แนวทางสู่การเรียนการสอนแบบฐานสมรรถนะ

2564 ปีการศึกษาใหม่ ทางภาครัฐเองก็มีแนวนโยบายปฏิรูปการศึกษาไทยด้วยแผนเปลี่ยนการจัดการเรียนการสอนเพื่อมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะหลักที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคใหม่ โดยมุ่งเน้นให้เด็กไทยรู้จักคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประยุกต์ใช้ และมุ่งสร้างองค์ความรู้ให้เกิดขึ้นได้ด้วยตนเองแทนที่การท่องจำเนื้อหาเพื่อใช้ในการสอบ และเปลี่ยนจุดเน้นจากที่เคยเป็นหลักสูตรที่เน้นเนื้อหา (Content – based) ซึ่งมุ่งไปที่มาตรฐานและตัวชี้วัดจำนวนมาก ไปเป็นหลักสูตรที่เป็นฐานสมรรถนะ (Competency – based) คือ มุ่งไปยังพฤติกรรมที่ผู้เรียนโดยตรง ยึดที่ความสามารถที่ผู้เรียนพึงปฏิบัติได้เป็นหลัก เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเด็ก ๆ ของเราจะสามารถมีทักษะ องค์ความรู้ ที่พร้อมต่อยอดไปสู่การเป็นนวัตกรได้ต่อไปในอนาคต

การเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีเพียงองค์ความรู้ อาจไม่เพียงพอกับการดำเนินชีวิตในโลกยุคใหม่อีกต่อไป โลกที่เชื่อมถึงกันและกันแบบทุกวันนี้คนที่จะประสบความสำเร็จได้ จำเป็นต้องเข้าใจและหาทางข้ามเส้นขีดจำกัดของตนเองให้เจอ พร้อมที่จะต่อยอด และประยุกต์ใช้จากองค์ความรู้ที่มีอยู่อย่างตลอด

ขอบคุณที่มา : เว็บไซต์อักษรเจริญทัศน์ https://www.aksorn.com/

1 ความคิดเห็น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่