การวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน วิจัยในชั้นเรียน คืออะไร (Classroom Action Research)
บทความนี้ ครูอาชีพดอทคอม มาแชร์เรื่องราวความรู้เกี่ยวกับ การวิจัยเชิงปฏิบัติการ ในชั้นเรียน หรือ วิจัย ในชั้นเรียน โดยแนวคิดเกี่ยวกับการวิจัยเชิงปฏิบัติการได้เริ่มมีมานานแล้ว โดย John Dewey เป็นบุคคลแรก ที่เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการวิจัยเชิงปฏิบัติการ โดยเห็นว่าบุคลากรทางการศึกษาต้องทำวิจัย และนำผลการวิจัยไปใช้ในการปรับปรุงงานในหน้าที่ของตนให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น หากแต่บุคคลแรกที่ใช้คำว่า การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (action research) และได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งการวิจัยเชิงปฏิบัติการ” คือ Kurt Lewin (เลวิน) สำหรับผู้ที่นำการวิจัยเชิงปฏิบัติการมาใช้ในทางการศึกษาเป็นคนแรก คือ Stephen Corey โดยเขาได้เขียนหนังสือที่มีชื่อว่า “Action Research to Improve School Practices” และได้อธิบายว่า การวิจัยเชิงปฏิบัติการเป็นกระบวนการที่ผู้ปฏิบัติงานงานมุ่งที่จะศึกษาปัญหาในการปฏิบัติงานของตนเอง เพื่อแนะแนวทางแก้ปัญหาและประเมินการตัดสินใจและการปฏิบัติงานของตน สำหรับประเทศไทยได้นำแนวคิดนี้มาใช้ในการพัฒนาวิชาชีพครู โดยส่งเสริมให้ครูทำวิจัยเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาการเรียนการสอน รวมทั้งพัฒนาคุณภาพเชิงวิชาการและความก้าวหน้าในวิชาชีพครู ต่อมาพระราชบัญญัติศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็น กฎหมายแม่บททางการศึกษาของไทย ได้ให้ความสำคัญกับการวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า การวิจัยเป็นกระบวนการที่ควบคู่ไปกับกระบวนการเรียนรู้และกระบวนการทำงานของครู การวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียนจึงได้รับความสนใจและเห็นความสำคัญเพิ่มมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน (อ้างถึงใน อภิรักษ์ โภชพิพิธ, 2557)
ความหมาย
มารุต พัฒผล. (2564) ได้ให้ความหมายของการวิจัยในชั้นเรียน คื การวิจัยที่ทำโดยครูผู้สอน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน เป็นการวิจัยที่ทำอย่างรวดเร็ว และนำผลไปใช้ทันที การวิจัยมีลักษณะเป็นวงจร มีการสะท้อนผลการวิจัย โดยการอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำไปสู่การพัฒนาการเรียนการสอน
นอกจากนี้ ได้สรุปประโยชน์ของการวิจัย ปฏิบัติการในชั้นเรียน ดังนี้
1. แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนอย่างเป็นระบบ
2. เกิดความรู้จากการปฏิบัติงานจากการทำวิจัย
3. การจัดการเรียนการสอนมีประสิทธิผลมากขึ้น จากการนำผลการวิจัยไปใช้
4. พัฒนาไปสู่การจัดการเรียนรู้โดยใช้วิจัยเป็นฐาน (Research – based Learning)
5. เพิ่มความเป็นมืออาชีพสำหรับตนเองและวิชาชีพครู
ลักษณะสำคัญ
สุวิมล ว่องวาณิช. (2550) สรุปลักษณะสำคัญของการวิจัยปฏิบัติการ ในชั้นเรียนว่า เป็นการดำเนินงานที่เป็นวงจรต่อเนื่อง มีกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วม และเป็นกระบวนการที่เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานปกติ เพื่อให้ได้ข้อค้นพบเกี่ยวกับการแก้ปัญหาที่สามารถปฏิบัติได้จริง ดังนี้
การวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน คือ การวิจัยที่มีลักษณะดังนี้
ใคร | ครูผู้สอนในห้องเรียน |
ทำอะไร | ทำการแสวงหาวิธีการแก้ไขปัญหา |
ที่ไหน | ที่เกิดขึ้นในห้องเรียน |
เมื่อไร | ในขณะที่การเรียนการสอนกำลังเกิดขึ้น |
อย่างไร | ด้วยวิธีการวิจัยที่มีวงจรการทำงานต่อเนื่องและสะท้อนกลับการทำงานของตนเอง (self-refection) โดยขั้นตอนหลัก คือ การทำงานตามวงจร PAOR (Plan, Act, Observe, Reflect & Revise) |
เพื่อจุดมุ่งหมายใด | มีจุดมุ่งหมายการวิจัยในชั้นเรียนเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียน |
ลักษณะเด่นการวิจัย | เป็นกระบวนการวิจัยที่ทำอย่างรวดเร็ว โดยครูผู้สอนนำวิธีการแก้ปัญหาที่ตนเองคิดขึ้นไปทดลองให้กับผู้เรียนนั้นทันทีและสังเกตผลการแก้ปัญหานั้น มีการสะท้อนผลและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนครูในโรงเรียน เป็นการวิจัยแบบร่วมมือ (collaborative research) |
ศูนย์พัฒนาการเรียนรู้และวิชาชีพครู คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ม.ป.ป.: 3) ได้ระบุหลักการของการทำวิจัยปฏิบัติการ ในชั้นเรียนไว้ดังนี้
1. การวิจัยปฏิบัติการในโรงเรียนแท้ๆ ต้องเป็น “งานเล็กๆ ง่ายๆ และมีคุณค่า” (A small, simple and significant task) ที่บูรณาการอยู่ในการปฏิบัติงานการจัดการเรียนการสอนปกติของครู
2. เราทั้งผองสามารถเรียนรู้จากกันและกัน (We all can learn from each others)
ทั้งนี้ ศูนย์พัฒนาการเรียนรู้และวิชาชีพครู คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ม.ป.ป.: 7) ได้แนะนำเกี่ยวกับแบบของการวิจัยปฏิบัติการ ในชั้นเรียนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน 4 สถานการณ์ ดังนี้
ขั้นตอนของการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน
นิลรัตน์ นวกิจไพฑูรย์. (2564) ได้เสนอขั้นตอนการวิจัยในชั้นเรียนการดำเนินการวิจัยปฏิบัติการ ในชั้นเรียน ดังนี้
1. ขั้นการวางแผน (plan) ประกอบด้วยกิจกรรมต่อไปนี้
1.1 การวิเคราะห์และสำรวจปัญหา เพื่อนำไปสู่การวิจัยปฏิบัติการ ในชั้นเรียน ขั้นตอนนี้ประกอบด้วยรายละเอียดที่ครูควรดำเนินการได้แก่ วิเคราะห์สภาพปัจจุบันเกี่ยวกับปัญหาการเรียนรู้ของผู้เรียนและสภาพการจัดกระบวนการเรียนรู้ว่าเป็นอย่างไร ปัญหาใดเป็นปัญหาเร่งด่วนหรือมีผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนมากที่สุด ที่จำเป็นต้องแก้ไขหรือพัฒนาให้ผู้เรียนมีมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ สำหรับแหล่งปัญหาวิจัยได้จากการประเมินผลการเรียนรู้อาจเกิดขึ้นในระหว่างการจัดการเรียนรู้ที่ผู้สอนได้สังเกตและบันทึกไว้หรือได้จากการตรวจร่องรอยการปฏิบัติงานของผู้เรียน และหลักฐานอื่น ที่ได้จากการวัดผลตามสภาพจริง รวมทั้งข้อมูลการประเมินการเรียนรู้หลังสิ้นสุดการเรียนการสอน หลังจากนั้นจึงพิจารณาคัดเลือกปัญหาที่จำเป็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขพร้อม ทั้งวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา เพื่อนำไปสู่การค้นหานวัตกรรมในการแก้ปัญหาในขั้นตอนต่อไป
1.2 ขั้นศึกษาทฤษฎี หลักการเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ เทคนิควิธีการจัดการเรียนรู้ เพื่อหาแนวทางต่าง ๆ ของการแก้ปัญหา เมื่อได้ปัญหาวิจัยแล้วก่อนที่จะตัดสินใจเลือกวิธีการที่จะใช้แก้ ปัญหา ครูควรศึกษาทฤษฏี แนวคิด หรือหลักการที่เกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ เทคนิควิธีการต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับปัญหาวิจัย ซึ่งผู้วิจัยสามารถศึกษาจากเอกสาร ตำรา งานวิจัยบทความหรือการ สอบถามผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ
1.3 เลือกนวัตกรรมหรือวิธีการที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหา เป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นหลังจากที่ครูวิเคราะห์ปัญหา คัดเลือกปัญหาที่จำเป็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขรวมทั้งวิเคราะห์ค้นหา สาเหตุเพื่อนำไปสู่การค้นหานวัตกรรมมาใช้แก้ปัญหาให้สอดคล้องกับสาเหตุ เช่น สาเหตุเนื่อง วิธีการจัดการเรียนรู้ไม่เหมาะสมหรือไม่สามารถดำเนินการได้ตามกระบวนการที่วางไว้ครูต้องหา วิธีการใหม่ หรือพบว่าขาดสื่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพครูก็ผลิตหรือจัดหาสื่อมาใช้แก้ปัญหา ในการดำเนินการขั้นนี้ต้องใช้ความรู้ที่ได้จากการศึกษาทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
1.4 การเขียนเค้าโครงการวิจัย เป็นการนำผลของการวางแผนการวิจัยมาจัดทำเป็นโครงการ เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการวิจัยในขั้นต่อไป
2. ขั้นการปฏิบัติตามแผน (action) ประกอบด้วยกิจกรรมต่อไปนี้
2.1 การจัดทำแผนการเรียนรู้และการพัฒนานวัตกรรมที่ใช้ในการวิจัย ในขั้นนี้ ผู้วิจัยจะต้องจัดทำแผนการเรียนรู้ของเนื้อหาที่ใช้ในการวิจัยโดยใช้นวัตกรรมหรือวิธีการที่เลือกไว้ จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบของแผนการเรียนรู้ตามปกติ
2.2 การสร้างเครื่องมือวัดผลการเรียนรู้ หลังการจัดการเรียนรู้ครูผู้สอนต้องมีการวัดผลการเรียนรู้ ซึ่งต้องใช้เครื่องมือวัดผลการเรียนรู้ ผู้วิจัยจะต้องพิจารณาว่าจะใช้เครื่องมือใดที่สามารถรวบรวมข้อมูลได้ครบถ้วน เหมาะสมกับลักษณะของข้อมูลที่ต้องการวัด เครื่องมือวัดผลการเรียนรู้มีหลายชนิดเช่น แบบทดสอบ แบบสังเกตพฤติกรรม แบบทดสอบการปฏิบัติ แบบประเมินผลงาน เป็นต้น
2.3 การปฏิบัติการสอน เมื่อครูจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้และสร้างนวัตกรรมหรือ สื่อการเรียนรู้ที่ใช้ในการเรียนรู้เรียบร้อยแล้วนำมาดำเนินการจัดการเรียนรู้ตามแผนการจัดการเรียนรู้ได้เลย
3. ขั้นการสังเกตผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามแผน (observe)
เป็นขั้นตอนของการเก็บรวบรวมข้อมูลผลของการนำนวัตกรรม วิธีการแก้ปัญหาไปใช้หรือผลการเรียนรู้ ที่เกิดขึ้นโดยใช้เครื่องมือวัดผลและนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ข้อมูลและนำเสนอผลที่ได้ จากการใช้วิธีการหรือนวัตกรรมในการแก้ ปัญหานั้น ๆ
4. ขั้นการสะท้อนผลหรือการสะท้อนความคิด (reflect)
เป็นขั้นตอนที่ครูนำผลที่ได้จากการใช้นวัตกรรมมาสะท้อนผลการดำเนินงาน พร้อมทั้งสรุปบทเรียนกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น เพื่อนครู ผู้ปกครองนักเรียน และผู้บริหาร ผลสรุปที่ได้จากขั้นตอนนี้จะนำไปสู่การปรับปรุง และแก้ไขการปฏิบัติงานของครู ซึ่งครูสามารถนำผลที่ได้ไปวางแผนการปฏิบัติงานของตนต่อไป
สรุปลักษณะการ วิจัย ในชั้นเรียน แบบง่าย
1. ผู้ทำวิจัยยังคงทำงานตามปกติของตน
2. ไม่ต้องสร้างเครื่องมือวิจัย (แต่สร้างเครื่องวัดผล)
3. ไม่มีข้อมูลจำนวนมาก และไม่ต้องใช้สถิติที่ซับซ้อน
4. ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากการสังเกต การพูดคุย และใช้การวิเคราะห์เนื้อหา
5. ไม่ต้องทบทวนรายงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
6. ใช้เวลาทำวิจัยไม่นาน
7. ความยาว 2 – 3 หน้าต่อเรื่อง
8. นักเรียนได้รับการพัฒนา
9. ไม่มีระบุประชากร การสุ่มตัวอย่าง
10. ไม่ต้องใช้สถิติสรุปอ้างอิง และไม่มีระดับนัยสำคัญ
11. ไม่มีการทดสอบก่อน หลัง
12. ไม่มีกลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุม
13. เน้นการแก้ไขที่สาเหตุของปัญหาของนักเรียน บางคน บางเรื่อง
กล่าวโดยสรุปได้ว่าการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน โดยครูผู้สอนในชั้นเรียนนั้นๆ เป็นการดำเนินการที่มีการวางแผน การปฏิบัติ การสังเกตผล และการสะท้อนกลับ ซึ่งเป็นการวิจัยที่ทำเร็ว นำผลไปใช้ได้ทันที นำไปสู่การจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้เรียนอย่างแท้จริง
ขอบคุณที่มา :
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ดาวน์โหลดฟรี!! รวมไฟล์วิจัย 5 บท ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยห้องสมุดคณะครุศาสตร์ มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา
- ดาวน์โหลดฟรี ตัวอย่างงานวิจัย ในชั้นเรียน 5 บท ปีการศึกษา 2564 เครดิตเพจ ครูชายขอบ ชอบสร้างสื่อ By ครูวรยา
- แจกฟรี!! วิจัย ในชั้นเรียน เรื่อง การหมุนเวียนของน้ำ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนอนุบาลพระสมุทรเจดีย์
- เผยแพร่ผลงาน วิจัย ในชั้นเรียน 5 บท แก้ไขได้ เรื่อง การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้การจัดการเรียนรู้เชิงรุกและการใช้เกมโอเอ็กซ์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ เรื่องการแยกสาร ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 โรงเรียนบ้านนาทุ่ง
- ดาวน์โหลด!! แบบฟอร์มรายงาน วิจัย ในชั้นเรียน (5 บท ฉบับครูสายบัว) ไฟล์ *.doc สามารถแก้ไขได้
- ดาวน์โหลดฟรี!! รวมงาน วิจัย ในชั้นเรียน แก้ไขได้ มากกว่า 200 เรื่อง