ดูที่นี่!! เปิดวิธีต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์ ง่าย สะดวก ไม่ต้องไปขนส่ง
บทความนี้ ครูอาชีพดอทคอม ขอแนะนำช่องทางการต่อภาษีรถยนต์ ซึ่งปัจจุบันในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ยังคงระบาดไปทั่วประเทศ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนที่ต้องการชำระภาษีรถประจำปีไม่ต้องเดินทางมาที่สำนักงานขนส่ง ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ทั้งยังเป็นการลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
กรมการขนส่งทางบก แนะนำใช้บริการชำระภาษีรถประจำปีผ่านแอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax ของกรมการขนส่งทางบก รอรับเครื่องหมายการเสียภาษีและใบเสร็จรับเงินทางไปรษณีย์ ภายใน 5 วันทำการ นับจากวันชำระเงิน โดยเมื่อมีการชำระภาษีรถประจำปีผ่านแอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax เรียบร้อยแล้ว ระบบจะแสดงหลักฐานการชำระภาษีรถประจำปีชั่วคราว เพื่อให้เจ้าของรถสามารถใช้เป็นหลักฐานแสดงการชำระภาษีจนกว่าจะได้รับเครื่องหมายการเสียภาษีประจำปีจากกรมการขนส่งทางบก
นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบกยังได้พัฒนาบริการรับชำระภาษีรถประจำปีอีกหลากลายช่องทางที่อำนวยความสะดวกไม่ต้องเดินทางมาสำนักงานขนส่ง เช่น เว็บไซต์ https://eservice.dlt.go.th, เคาน์เตอร์เซอร์วิส, โมบายล์แอปพลิเคชัน mPAY และ Truemoney Wallet ซึ่งไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็สามารถชำระภาษีรถประจำปีได้ เบื้องต้นรองรับเฉพาะรถที่ไม่เข้าข่ายต้องนำรถไปตรวจสภาพ อาทิ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (รถเก๋ง), รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน (รถตู้), รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รถกระบะ) ที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 7 ปี รถจักรยานยนต์ที่มีอายุการใช้งานไม่ได้เกิน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนครั้งแรก ที่ไม่มีภาษีค้างชำระหรือค้างชำระไม่เกิน 1 ปี ไม่ถูกอายัดทะเบียน ไม่ใช่รถที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทก๊าซ และไม่มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของรถให้ผิดไปจากรายการที่จดทะเบียนไว้ ส่วนรถที่เข้าข่ายต้องตรวจสภาพก่อนชำระภาษีประจำปี สามารถใช้บริการชำระภาษีโดยไม่ต้องลงจากรถหรือบริการเลื่อนล้อ ต่อภาษี (Drive Thru for Tax) ณ สำนักงานขนส่ง, ที่ทำการไปรษณีย์, ธนาคารพาณิชย์ที่ร่วมโครงการ หรือที่สำนักงานขนส่งทุกแห่งทั่วประเทศ
ประเภทรถยนต์ที่สามารถยื่นชำระภาษีผ่าน e-Service ได้
- รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน อายุไม่เกิน 7 ปี
- รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน อายุไม่เกิน 7 ปี
- รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล อายุไม่เกิน 7 ปี
- รถจักรยานยนต์ อายุไม่เกิน 5 ปี
- รถที่ค้างชำระภาษีไม่เกิน 1 ปี และมีน้ำหนักรถไม่เกิน 2,200 กิโลกรัม (หากค้างเกิน 1 ปี และมีน้ำหนักเกิน 2,200 กิโลกรัม จะต้องเข้ารับการตรวจสภาพที่สถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) และยื่นชำระภาษีที่สำนักงานขนส่งเท่านั้น) โดยและชำระภาษีล่วงหน้าได้ไม่เกิน 90 วัน
*หมายเหตุ* กรมการขนส่งทางบกได้พัฒนาเว็บไซต์ชำระภาษีรถประจำปี ให้สามารถรองรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (รถเก๋ง), รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน (รถตู้), รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รถกระบะ) ที่มีอายุการใช้งานเกิน 7 ปี รถจักรยานยนต์ที่มีอายุการใช้งานเกิน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนครั้งแรกได้แล้ว โดยมีเงื่อนไขคือ รถนั้นต้อง “ผ่าน” การตรวจสภาพรถจากสถานตรวจสภาพรถ (ตรอ.) ก่อน จึงจะดำเนินการตามขั้นตอนชำระภาษีในเว็บไซต์ได้
ขั้นตอนการชำระภาษีรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ออนไลน์ผ่าน e-Service
1. เข้าไปยังเว็บไซต์ https://eservice.dlt.go.th
2. Log-in เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียนเพื่อขอรับรหัสผ่าน (สำหรับสมาชิกใหม่) “เลือกลงทะเบียนสมาชิกใหม่”
3. จากนั้นเลือก “ชำระภาษีรถประจำปี” ในเมนูย่อยเลือก “ชำระภาษีรถประจำปีผ่านอินเตอร์เน็ต”
4. กรอกรายละเอียดเกี่ยวกับรถและยื่นชำระภาษี และกรอกรายละเอียดหลักฐานการเอาประกันตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 หรือซื้อจากระบบ
5. กรอกข้อมูลที่อยู่ในการจัดส่งเอกสารให้ครบถ้วนและถูกต้อง
6. เลือกช่องทางชำระเงิน (หักบัญชีเงินฝาก/ตัดบัตรเครดิต/บัตรเดบิต/ชำระผ่านตู้ ATM/เคาน์เตอร์/โมบายแบงค์กิ้ง)
7. การตรวจสอบสถานะสามารถตรวจสอบสถานะการดำเนินการยื่นชำระภาษี สถานะการจัดส่งเอกสาร หมายเลข EMS เลขกรมธรรม์ หรือปัญหาจากการยื่นชำระ ได้ที่เมนู “ตรวจสอบผลการชำระภาษี/เปลี่ยนช่องทางชำระเงิน”
ขั้นตอนการชำระภาษีรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ออนไลน์ผ่าน DLT Vehicle Tax
1.ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax (ดาวน์โหลดได้ที่ iOS และ Android)
2. กรอกข้อมูลส่วนตัวให้ครบ
3. รับรหัส OTP ผ่านอีเมล และกดยืนยัน
4. ตั้งรหัส PIN 6 หลัก
5. เลือกรูปแบบชำระภาษีรถตัวเอง
6. ใส่เลขบัตรประจำตัวประชาชน
7. เลือกประเภทรถที่จ่ายภาษี
8. กรอกข้อมูลเลขทะเบียน และใส่ข้อมูลประกันภัย (พ.ร.บ.)
9. เลือกรับเครื่องหมายผ่านไปรษณีย์ และกรอกที่อยู่
10. เช็กข้อมูลและจำนวนภาษีที่จ่าย
11. เลือกวิธีจ่ายเงิน มีทั้ง QR ชำระเงิน และ แอปฯ SCB Easy App
อัตราค่าบริการ
- ค่าจัดส่งเอกสาร รายการละ 32 บาท
- ค่าธรรมเนียมธนาคาร รายการละ 20 บาท
- ค่าธรรมเนียมการใช้บัตร (กรณีชำระด้วยบัตรเครดิต) 2% และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ของยอดเงินทั้งหมด
ขั้นตอนทั้งหมดตั้งแต่ชำระเงินภาษีสำเร็จจนถึงวันที่ได้รับเอกสารทางไปรษณีย์ไม่เกิน 5 วันทำการ โดยเจ้าของรถสามารถนำใบคู่มือจดทะเบียนไปปรับบันทึกรายการชำระภาษีได้ที่สำนักงานขนส่งจังหวัด/สาขาทั่วประเทศ
ดาวน์โหลดคู่มือ
ขอบคุณที่มา : silkspan, sanook