สอนออนไลน์อย่างไร ให้เป็น Active Learning ?
บทความนี้ ครูอาชีพดอทคอม ขอนำเสนอวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ในรูปแบบออนไลน์ ที่ให้เกิดการเรียนรู้เชิงรุก หรือ Active Learning บทความนี้ อ้างอิงจากบทความของ รองศาสตราจารย์ ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ เรื่อง ออกแบบห้องเรียนออนไลน์อย่างไร ให้เกิดความ Active Learning โดย : รองศาสตราจารย์ ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ (คุณครูแจ็ค)
ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี และหนึ่งในผู้รับผิดชอบโครงการ TSQP
ในสถานการณ์ที่ไวรัส COVID-19 กำลังแพร่ระบาด ระบบการศึกษาก็ต้องปรับให้เป็นลักษณะของการศึกษาทางไกล ทำให้เกิดการตื่นตัวอย่างกว้างขวางในการใช้เครื่องมือ แพลตฟอร์มออนไลน์ในการพัฒนาบทเรียนและรูปแบบการถ่ายทอดความรู้กันผ่านหน้าจอ ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่วิกฤตนี้ได้มาเร่งกระบวนการศึกษายุคใหม่ให้เกิดขึ้นเร็วและกว้างขวางกว่าเดิม
แต่แพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์ก็ยังไม่ใช่หัวใจสำคัญของการศึกษาเสียทีเดียว เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนช่องทางจากห้องเรียนจริงมาเป็น Virtual Classroom ห้องเรียนเสมือนจริงบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคุณครูกับนักเรียนก็ย่อมลดลงตามไป จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับคุณครูว่าจะทำอย่างไรให้ลูกศิษย์ยังคงตื่นตัว สนใจไปกับการเรียนได้ ในแง่ของการเรียนการสอนที่ “ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” หรือการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning
ซึ่งการจัดการเรียนออนไลน์แบบ Active Learning ให้เป็น High Functioning Classroom ห้องเรียนที่มีประสิทธิภาพสูงทั้งกระบวนการและผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนได้นั้น จะมีองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยให้คุณครูทำงานง่ายขึ้น โดยเริ่มจาก ศึกษาธรรมชาติของนักเรียน สภาพแวดล้อม และบริบทต่างๆ ก่อนออกแบบเนื้อหาการสอน Tips & Tricks ในการสร้างความ Active Learning บนโลกออนไลน์
1.เปิดเวทีให้เด็กแต่ละคน แชร์เรื่องราวตัวเอง
เริ่มการเรียนด้วยกิจกรรมสนุกๆ ด้วยการสลับไมค์ให้เด็กพูดถึงตัวเอง วิเคราะห์ศักยภาพตัวเองให้เพื่อนๆ และคุณครูฟังไม่ว่าจะเป็นข้อดีข้อด้อย ความสามารถพิเศษและแนวคิดสิ่งที่อยากทำ เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนตั้งแต่เริ่มต้น โดยใช้แพลตฟอร์มที่คุณครูสามารถควบคุมสวิทช์ไมโครโฟนได้ เป็นเหมือนผู้ดำเนินรายการ
2.เรียนในออนไลน์ แล้วไปต่อในชีวิตจริง
เมื่อคุณครูและนักเรียนได้ศึกษา ทำความเข้าใจในศักยภาพกันและกันแล้ว ก็เป็นเวลาที่ครูจะเข้าเนื้อหา ด้วยสื่อการเรียนรู้ที่เตรียมไว้ ซึ่งสื่อในที่นี้ควรมีฟีเจอร์ที่หลากหลาย นำเสนอได้ทั้งเป็นภาพ เสียง คลิป จากนั้นลองให้นักเรียนแชร์ไอเดียสิ่งที่ตัวเองสนใจ ก่อนจะแยกย้ายกันไปลงมือศึกษาค้นคว้าประดิษฐ์คิดค้นด้วยตนเอง โดยมีคุณพ่อ คุณแม่ผู้ปกครองหรือคนในครอบครัวเป็นโค้ชช่วยดูแล ซึ่งขอบเขตที่เหมาะสมของงานอยู่ที่ความสะดวก ความพร้อมของนักเรียน อุปกรณ์ที่มีรอบตัวเป็นสำคัญ
3.ติดตามผลงานไปพร้อมกัน
โดยระหว่างการลงมือทำ ครูอาจจะมีการนัด Video Call ให้เด็กนักเรียนมาเล่าความก้าวหน้า โดยมีการเก็บข้อมูลเพื่อทำการประเมินผลตามสภาพจริง (Formative Assessment) แบบครบวงจร เช่น นักเรียนเจ้าของผลงานมาแชร์ความก้าวหน้าพร้อมประเมินตนเองไปด้วย มีคุณครูและเพื่อนๆ ร่วมประเมิน พูดคุย เป็นการแลกเปลี่ยนไอเดีย แลก Feedback กันไปในตัว ค่อยๆ ตามผล ก้าวไปด้วยกันจนถึงขั้นตอนสุดท้ายที่คุณครูจะประเมินตัวผลงานฉบับ Final
4.รีวิวบทเรียนที่ผ่านมา + วาง Next Step
พอได้ประเมินผลงานการลงมือทำจริงของนักเรียนไปแล้ว คุณครูก็จะเห็นภาพมากขึ้นว่าเด็กๆ มีศักยภาพและได้ใช้ความรู้ในสาขาวิชาไหนไปบ้าง เพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบวิธีให้คะแนนที่สอดคล้องกับบทเรียน แล้วมา Video Call รีวิวงานกันอีกครั้งแบบ AAR (After Action Review)
โดยประเด็นการพูดคุยจะเป็นเรื่องของการเรียนรู้ที่ผ่านมา อุปสรรคปัญหา วิธีการแก้ไข ตลอดจนมองไปที่
Next Step ว่าจะพัฒนาตนเองและผลงานอย่างไรในอนาคต ถ้ามีโอกาสได้เรียนวิชาที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์ชิ้นงานอีกครั้ง โดยคุณครูอาจจะชวนคิดให้นักเรียนขยายสเกลงาน ทำในสิ่งที่จะสร้างผลลัพธ์ในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ได้ เช่น ครั้งแรกอาจจะทำเพื่อตัวเองและครอบครัว ครั้งต่อไปอาจจะเริ่มทำเพื่อชุมชนใกล้เคียง และต่อไปอาจจะเริ่มทำในสิ่งที่กระทบกับคนในประเทศและสังคมโลกในที่สุด เป็นต้น
ขอบคุณที่มา : กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)