แนวทางการจัดการเรียนรู้ และการประเมินการเรียนรู้ หลักสูตรฐานสมรรถนะ (หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ....)

แนวทางการจัดการเรียนรู้ และการประเมินการเรียนรู้ หลักสูตรฐานสมรรถนะ (หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ….)

ครูอาชีพดอทคอม ขอนำเสนอ แนวทางการจัดการเรียนรู้ และการประเมินการเรียนรู้ หลักสูตรฐานสมรรถนะ (หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ….) การนำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานสู่การปฏิบัตินั้น ต้องดำเนินงานควบคู่กันระหว่างการเรียน การสอนและการประเมินการเรียนรู้ ด้วยการบูรณาการการประเมินการเรียนรู้ให้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนรู้ ยึดผลลัพธ์การเรียนรู้เชิงสมรรถนะเป็นเป้าหมายการเรียนรู้ (Objective) ที่นำไปสู่การออกแบบการจัดการเรียนรู้ (Learning) หรือการเรียนการสอน (Instruction) และการประเมินการเรียนรู้ (Assessment)

การจัดการเรียนรู้

               หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลักสูตรที่ใช้สมรรถนะ เป็นองค์ประกอบหลักในการกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ การนำสมรรถนะสู่การจัดการเรียนรู้เป็นการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ เริ่มจากการพิจารณาสมรรถนะหลักที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนาผู้เรียน และวิเคราะห์สมรรถนะเฉพาะของศาสตร์เพื่อนำมาผสมผสานกับสมรรถนะหลัก แล้วกำหนดเป็นผลลัพธ์การเรียนรู้ของสาระการเรียนรู้เมื่อจบช่วงชั้น การจัดการเรียนรู้ในสาระการเรียนรู้ให้ผู้เรียนบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้จึงเป็นกลไกสำคัญในการช่วยให้ผู้เรียนบรรลุทั้งสมรรถนะเฉพาะ และสมรรถนะหลัก นอกจากนี้ ในการจัดการเรียนรู้นั้นผู้สอนต้องออกแบบกระบวนการที่ช่วยปลูกฝัง เสริมสร้าง และพัฒนาสมรรถนะ ซึ่งครอบคลุมทั้งความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของสาระการเรียนรู้

                การจัดการเรียนรู้เน้นที่การนำความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน การแก้ปัญหา และการใช้ชีวิต ผู้สอนต้องบูรณาการความรู้สหวิทยาการ (Multidisciplinary) และจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ที่เน้นให้ความสำคัญกับผู้เรียน ผู้เรียนต้องได้รับการพัฒนาความรู้ ทักษะและคุณลักษณะที่จำเป็นและเพียงพอเพื่อนำมาสู่การประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ โดยมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการคิด ลงมือทำ สะท้อนคิด เน้นการปฏิบัติ ปรับปรุงและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เป็นการเรียนรู้ที่มีความหมายต่อผู้เรียน เชื่อมโยงกับประสบการณ์ของผู้เรียน

               การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช …. ยึดหลักการที่ว่า ผู้เรียนทุกคนสามารถประสบความสำเร็จได้ตามความถนัด ความชอบและศักยภาพในรูปแบบของตนเอง การจัดการเรียนรู้จึงต้องสนับสนุนให้ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ที่เอื้อให้ผู้เรียนค้นหาตัวเองเพื่อเลือกเส้นทางการเรียนรู้ (Learning Pathways)  ตอบสนองความแตกต่างของผู้เรียน (Different Instruction) มีความยืดหยุ่นเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นรายบุคคล (Individual Support) คำนึงถึงจังหวะในการเรียนรู้ของผู้เรียน (Self-Pacing) สอดคล้องกับบริบทของผู้เรียน ชุมชนแวดล้อม และจุดเน้นของสถานศึกษา

               การจัดการเรียนรู้ต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนกำกับการเรียนรู้ของตนเอง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ ดังนั้น การออกแบบการเรียนรู้ต้องผสานกันไปกับการประเมิน โดยมีการวิเคราะห์ผู้เรียนรายบุคคลว่ามีความสามารถ ความสนใจสิ่งใด เพื่อนำไปสู่การออกแบบการเรียนรู้ที่สอดคล้องและเหมาะสมกับการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนแต่ละบุคคล ผู้เรียนจะได้รับข้อมูลป้อนกลับจากการประเมินตนเองและผู้อื่นประเมินทั้งในขณะที่ปฏิบัติกิจกรรมและหลังจากการปฏิบัติกิจกรรม นำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาการเรียนรู้ของตน รวมทั้งได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือที่สอดคล้องกับความต้องการบนเส้นทางการเรียนรู้ของตนเองในระยะเวลาที่แตกต่างกันตามความจำเป็นของแต่ละคน เพื่อเอื้อให้ผู้เรียนได้พัฒนาสมรรถนะเต็มตามศักยภาพสู่ระดับความสามารถที่สูงขึ้น

               ทรัพยากรสนับสนุนการเรียนรู้ เป็นเครื่องมือส่งเสริมสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนได้พัฒนาสมรรถนะ การจัดหาทรัพยากรสนับสนุนการเรียนรู้ ต้องเชื่อมโยงกับความเป็นจริง มีความร่วมสมัย หลากหลาย ยืดหยุ่น และอิงบริบทของผู้เรียน ช่วยให้ผู้เรียนได้ใช้ความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะในสถานการณ์จริงหรือเสมือนจริง เพื่อให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะ โดยทรัพยากรสนับสนุนการเรียนรู้ อาจหมายรวมถึงการรวบรวมแหล่งการเรียนรู้ ศูนย์สื่อการเรียนรู้ ระบบสารสนเทศการเรียนรู้ และเครือข่ายการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ
ทั้งในสถานศึกษาและในชุมชน

               การเลือกใช้ทรัพยากรสนับสนุนการเรียนรู้ ควรเลือกให้มีความเหมาะสมกับระดับพัฒนาการ และลีลาการเรียนรู้ที่หลากหลายของผู้เรียนเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้รายบุคคล สอดคล้องกับจังหวะการเรียนรู้ และเส้นทางการเรียนรู้ของผู้เรียน การใช้สื่อและทรัพยากรการเรียนรู้เพื่อสนับสนุนผู้เรียนควรเป็นไปเพื่อการพัฒนาผู้เรียนให้เกิดการถ่ายโยงการเรียนรู้เพื่อประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนเอื้อให้ผู้สอนสามารถใช้สื่อในการช่วยเหลือและพัฒนาผู้เรียนในระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาสู่สมรรถนะขั้นถัดไป และแตกต่างไปตามความจำเป็นแต่ละคน

การประเมินการเรียนรู้

               การประเมินการเรียนรู้มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อพัฒนาผู้เรียน การประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียนตั้งอยู่บนหลักการที่สำคัญว่า การประเมินเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีความหมาย สร้างแรงจูงใจ และส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน สามารถดำเนินการได้ตลอดเวลา ในช่วงเวลาที่เหมาะสม มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงและนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ การประเมินเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่เป็นบวกส่งเสริมให้ผู้เรียนแสดงออกถึงการพัฒนาสมรรถนะตามเกณฑ์การปฏิบัติ (Performance Criteria) ที่กำหนดเป็นการวัดอิงเกณฑ์ ประเมินความก้าวหน้าตามอัตราตนเองเมื่อผู้เรียนพร้อม ผู้เรียนได้รับทราบเกณฑ์การประเมินและข้อมูลพัฒนาการของตนเองที่ชัดเจนเพื่อเป็นข้อมูลป้อนกลับในการพัฒนาสมรรถนะ ผู้เรียนสามารถเลื่อนระดับการพัฒนาได้ (Advancement) หากแสดงถึงหลักฐาน หรือร่องรอยการปฏิบัติ (Evidence) ที่บ่งบอกความชำนาญ (Mastery) ของผู้เรียน หากไม่ผ่านผู้เรียนจะได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีเพื่อพัฒนาสู่ระดับสมรรถนะขั้นถัดไป

               การประเมินบูรณาการอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ กระบวนการประเมินเน้นการรวบรวมหลักฐานการเรียนรู้เพื่อให้ได้สารสนเทศเกี่ยวกับพัฒนาการของผู้เรียนทั้งในด้านสมรรถนะเฉพาะและสมรรถนะหลัก เพื่อใช้ในการพัฒนาผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง การประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียนดำเนินการทั้งการประเมินเพื่อพัฒนาและการประเมินเพื่อสรุปผล ด้วยวิธีการที่หลากหลายและสอดคล้องกับวัยและความต้องการจำเป็นของผู้เรียน และธรรมชาติของศาสตร์

               การประเมินบูรณาการอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ กระบวนการประเมินเน้นการรวบรวมหลักฐานการเรียนรู้เพื่อให้ได้สารสนเทศเกี่ยวกับพัฒนาการของผู้เรียนทั้งในด้านสมรรถนะเฉพาะและสมรรถนะหลัก เพื่อใช้ในการพัฒนาผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง การประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียนดำเนินการทั้งการประเมินเพื่อพัฒนาและการประเมินเพื่อสรุปผล ด้วยวิธีการที่หลากหลายและสอดคล้องกับวัยและความต้องการจำเป็นของผู้เรียน และธรรมชาติของศาสตร์

               การประเมินเพื่อสรุปผลเป็นการพิจารณาสมรรถนะเฉพาะและสมรรถนะหลักเพื่อทำการตัดสินใจในหลายลักษณะ ทั้งการตัดสินผลการเรียน การเลื่อนชั้น และการจบการศึกษา การประเมินสรุปผลพิจารณาหลักฐานการเรียนรู้เทียบกับเกณฑ์ การประเมินสรุปผลสมรรถนะเฉพาะประเมินผ่านผลลัพธ์การเรียนรู้เมื่อผู้เรียนพร้อม หรือเมื่อจบหน่วยการเรียนรู้ ส่วนการประเมินสมรรถนะหลักประเมินเมื่อจบปีการศึกษา เพื่อสะท้อนภาพการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนตลอดแนว

การตัดสินผลการเรียน

การตัดสินผลการเรียน ดำเนินการใน 2 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ 1 ตัดสินผลการเรียนตามผลลัพธ์การเรียนรู้โดยกำหนดเป็นระดับผลการเรียนซึ่งสะท้อนถึงความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของผู้เรียน เช่น กำหนดเป็นระบบสัญลักษณ์ ระบบตัวอักษร หรือคำสำคัญอื่นที่สถานศึกษากำหนด ซึ่งพิจารณาจากข้อมูล หรือหลักฐานที่เป็นผลจากการเรียนรู้

ส่วนที่ 2 ตัดสินผลการพัฒนาสมรรถนะหลักของผู้เรียน ตามระดับความสามารถที่ส่วนกลางกำหนด (ระดับต้น กำลังพัฒนา สามารถ และเหนือความคาดหวัง) ซึ่งพิจารณาจากข้อมูล หรือหลักฐานที่เป็นผลจากการเรียนรู้ กรณีที่สถานศึกษากำหนดสมรรถนะเพิ่มเติมให้สถานศึกษากำหนดเกณฑ์ระดับความสามารถให้สอดคล้องกับแนวทางที่ส่วนกลางกำหนดด้วย

ในเบื้องต้นมีแนวทางการประเมินเพื่อตัดสินผลการเรียนของผู้เรียนไว้เป็น 4 แนวทาง ดังนี้

แนวทางการจัดการเรียนรู้ และการประเมินการเรียนรู้ หลักสูตรฐานสมรรถนะ (หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ....)
แนวทางการจัดการเรียนรู้ และการประเมินการเรียนรู้ หลักสูตรฐานสมรรถนะ (หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ….)

การรายงานผลการพัฒนาและการเลื่อนชั้น

การรายงานผลการพัฒนา

1) การรายงานผลการเรียนรู้ในระหว่างชั้นปีและเมื่อจบช่วงชั้นให้อิงสมรรถนะ โดยมีองค์ประกอบอย่างน้อย 2 ส่วน ได้แก่ ผลการเรียนรู้ตามผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ผู้เรียนบรรลุ และสรุปผลระดับสมรรถนะหลักที่ผู้เรียนบรรลุ

2) หากผู้เรียนย้ายสถานศึกษาระหว่างการศึกษาภายในชั้นปี สถานศึกษาดำเนินการสรุปรายงานผลการเรียนรู้ของผู้เรียนในปีการศึกษาที่ผ่านมาและผลการเรียนรู้ที่บรรลุในช่วงเวลานั้น

การเลื่อนชั้น

การเลื่อนชั้นของผู้เรียน แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การเลื่อนชั้นระหว่างชั้นปี และ การเลื่อนชั้นเมื่อจบช่วงชั้น

1) การเลื่อนชั้นระหว่างชั้นปีเป็นการประเมินเพื่อจัดทำข้อมูลการเรียนรู้ของผู้เรียนในแต่ละผลลัพธ์การเรียนรู้ในระหว่างการศึกษา หรือชั้นปีที่ 1 – 2 ของแต่ละช่วงชั้น ผู้เรียนจะได้รับการเลื่อนชั้นหากมีผลการเรียนรู้ตามผลลัพธ์การเรียนรู้ที่กำหนดในรายวิชาที่เรียน ถ้าผลการเรียนรู้ของผู้เรียนต่ำ หรือไม่เป็นไปตามระดับที่คาดหวังที่สถานศึกษากำหนด สถานศึกษาสามารถให้ผู้เรียนเลื่อนระดับชั้นปีได้ โดยจัดกิจกรรม หรือระบบสนับสนุนอื่น ซึ่งสอดคล้องกับหลักสูตรสถานศึกษา เพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีผลการเรียนรู้ตามที่หลักสูตรสถานศึกษากำหนด

2) การเลื่อนชั้นเมื่อจบช่วงชั้น (จากช่วงชั้นที่ 1 ไปช่วงชั้นที่ 2) เป็นการตัดสินผลการเรียนรู้ในภาพรวมเพื่อพิจารณาตัดสินการเลื่อนชั้นระหว่างช่วงชั้น เมื่อจบการศึกษาหรือชั้นปีสุดท้ายของช่วงชั้นที่ 1 และช่วงชั้นที่ 2 การเลื่อนระหว่างช่วงชั้นสามารถดำเนินการได้เมื่อผู้เรียนมีผลลัพธ์การเรียนรู้ตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนดและมีสมรรถนะหลักตามเกณฑ์ที่ส่วนกลางกำหนด

3) เกณฑ์การเลื่อนชั้น ทั้งการเลื่อนระหว่างชั้นปีและเลื่อนเมื่อจบช่วงชั้นให้เป็นไปตามที่หลักสูตรสถานศึกษากำหนด ซึ่งต้องสะท้อนสมรรถนะและหรือคุณลักษณะตามเป้าหมายของหลักสูตร ทั้งนี้ให้สถานศึกษาเป็นผู้พิจารณาอนุมัติการเลื่อนชั้น โดย

3.1) เกณฑ์การเลื่อนชั้นระหว่างชั้นปี: ผู้เรียนจะได้รับการเลื่อนชั้นเมื่อมีผลลัพธ์ การเรียนรู้ตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด ซึ่งระบุความสามารถสำคัญที่ผู้เรียนพึงมี (Minimum Requirement)

3.2) เกณฑ์การเลื่อนชั้นเมื่อจบช่วงชั้น ผู้เรียนจะได้รับการเลื่อนช่วงชั้นเมื่อบรรลุครบทุกผลลัพธ์การเรียนรู้ช่วงชั้นตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด และมีสมรรถนะหลักตามเกณฑ์ที่ส่วนกลางกำหนด

ทั้งนี้ เกณฑ์ที่ส่วนกลางกำหนดมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สถานศึกษานำไปใช้เป็นเกณฑ์เปรียบเทียบในการกำหนดเกณฑ์ในการพัฒนาผู้เรียนของโรงเรียนด้วย

การจบการศึกษา

การจบการศึกษาของผู้เรียน ประกอบด้วย 3 ระดับ ได้แก่ ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (การศึกษาภาคบังคับ) และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (การศึกษาขั้นพื้นฐาน) โดยมีรายละเอียดดังนี้

เกณฑ์การจบการศึกษา ผู้เรียนจบการศึกษาได้เมื่อ

1) มีผลการเรียนตามผลลัพธ์การเรียนรู้ ตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด

2) มีผลการพัฒนาสมรรถนะหลักตามเกณฑ์ที่ส่วนกลางกำหนด โดยมีสมรรถนะหลักอย่างน้อย 2 สมรรถนะ อยู่ในระดับ “สามารถ” ขึ้นไป

ทั้งนี้ สถานศึกษาสามารถกำหนดเกณฑ์การจบการศึกษาเพิ่มเติม รวมทั้งกำหนดเกณฑ์ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ

สถานศึกษาเป็นผู้พิจารณาอนุมัติการจบการศึกษา

หลักฐานการจบการศึกษาจากสถานศึกษาให้อิงสมรรถนะ โดยมีองค์ประกอบอย่างน้อย 2 ส่วน ได้แก่ ผลการเรียนตามผลลัพธ์การเรียนรู้เมื่อจบระดับการศึกษา และระดับสมรรถนะหลัก

ขอบคุณที่มา : CBE Thailand

บทความที่เกี่ยวข้อง

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่