แพทย์จุฬาฯ แนะแนว การเรียนการสอนยุค COVID-19 ในวันเปิดเทอม 1 กรกฎาคม 2563

แพทย์จุฬาฯ แนะแนว การเรียนการสอนยุค COVID-19 ในวันเปิดเทอม 1 กรกฎาคม 2563

“อาจารย์หมอ” สื่อสารถึงคุณครูและนักเรียน ต้องปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนในยุควิกฤต COVID-19 ให้ข้อคิด

ผู้ประสบความสําเร็จในชีวิตไม่จำเป็นจะต้องสอบได้ที่ 1

จากสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า ส่งผลให้สถานศึกษาต้องเลื่อนการเปิดเทอมออกไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 

ช่วงเวลาที่มีการปิดเทอมยาวนานกว่าทุกครั้ง ทำให้ “นักการศึกษา” ออกมาสะท้อนความเห็น

ทั้งรูปแบบการเรียนการสอนต้องปรับเปลี่ยนออกไป มีการกล่าวถึงผลดีผลเสียถึงการเรียนออนไลน์ หรือเมื่อเปิดเทอมแล้ว จะปรับรูปแบบการเรียนการสอนอย่างไร เพื่อให้สอดคล้องกับระบบสาธารณสุข ที่ยังคงต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาด ที่อาจขยายตัวระลอกใหม่

แล้วมุมมองของคุณหมอ ต่อการเรียนการสอนในสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า เป็นอย่างไร?

สัปดาห์ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ราชบัณฑิตและหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ได้นำเสนอความเห็นผ่านเพจส่วนตนเกี่ยวกับการเรียนการสอนในสถานการณ์ไวรัสโคโรน่า ไว้หลายตอนด้วยกัน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงขอคัดมานำเสนอดังนี้

การเรียนการสอนปีนี้ต้องอยู่ในวิถีชีวิตใหม่

เมื่อวันที่ 21 พ.ค. คุณหมอ ได้โพสต์ข้อความไว้ในหัวข้อเรื่อง “COVID-19” โดยระบุว่า ถึงแม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยติดเชื้อน้อยมาก จะพบการติดเชื้อส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ มาตรการในการควบคุมทำได้ดีมาก แต่ยังมีโรคนี้ระบาดอยู่ทั่วโลก มีผู้ป่วยใหม่วันละเป็นแสนคน จึงเป็นการยากที่จะกวาดล้างไวรัสนี้ให้หมดไป ทุกคนจึงจำเป็นที่จะต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่

ในทุกปีโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเช่นไข้หวัดใหญ่ RSV จะพบน้อยมากในฤดูร้อนและในช่วงปิดเทอม จะระบาดมากในฤดูฝนเริ่มตั้งแต่นักเรียนเปิดเทอมจะติดต่อกันง่ายมาก ในโรงเรียน COVID -19 เป็นอีกโรคหนึ่งที่มีการติดเชื้อเช่นเดียวกับโรคทางเดินหายใจ ก็ไม่แปลกที่จะระบาดในฤดูฝนโดยเฉพาะจากเด็กสู่เด็กก่อนแล้วจึงแพร่ระบาดออกไป

การระบาดในระลอก 2 ถ้าเกิดในฤดูฝนอย่างไข้หวัดใหญ่ก็ยากที่จะควบคุม จะต้องเริ่มต้นปิดบ้านปิดเมืองใหม่ หรือไม่อยากให้เป็นเช่นนั้นการเรียนการสอนปีนี้จึงต้องอยู่ในวิถีชีวิตใหม่เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดของโรคได้

“เด็กนักเรียนจะต้องเรียนได้ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน การเรียนการสอนไม่ควรยกให้เป็นภาระของโรงเรียนเท่านั้น ที่บ้านก็จะต้องมีบทบาทมาก แม้กระทั่งท้องถิ่นก็มีปราชญ์ชาวบ้านมากมาย ที่พร้อมจะสอนได้” แพทย์จุฬาฯ ระบุ 

คุณหมอ ให้ข้อคิดทิ้งท้ายว่า “การประสบความสำเร็จในชีวิตของเด็ก ไม่ได้เกิดจากการแข่งขันเข้าเรียน การกวดวิชา โรงเรียนกวดวิชาไม่สามารถกำหนดระยะห่างของบุคคลได้ เด็กเรียนกวดวิชาจ่ายค่าเล่าเรียนแพงแล้วนั่งเรียนกับครูตู้ นั่งติดกันก็ไม่เห็นมีใครบ่นหรือดราม่า ที่ผ่านมาคนมีฐานะสามารถให้ลูกหลานไปเรียนกวดวิชา เกิดความแตกต่างทางการศึกษาเพราะตัววัดของเราไม่ดี คุณครูเองก็จะต้องเปลี่ยนวิธีการสอนใหม่ เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสเลย

การเรียนเชิงภาคปฏิบัติ ปฏิบัติงานจริง ไปทำได้จริง ถึงอยู่ที่บ้านก็สามารถทำได้ การศึกษาในปีนี้จึงต้องมีการเตรียมการ การเรียนการสอนแบบวิถีชีวิตใหม่ให้เด็กไทยประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่ใช่เกิดความเครียดในการเรียน ตั้งแต่เช้าจนเย็นนอกเวลาต้องไปกวดวิชา

วิถีชีวิตใหม่อาจทำให้เด็กมีความสุขมากขึ้นก็ได้

แพทย์จุฬาฯ แนะแนว การเรียนการสอนยุค COVID-19 ในวันเปิดเทอม 1 กรกฎาคม 2563
แพทย์จุฬาฯ แนะแนว การเรียนการสอนยุค COVID-19 ในวันเปิดเทอม 1 กรกฎาคม 2563

ขอบคุณที่มา : กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่