โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG คืออะไร BCG Economy โมเดลสำหรับพัฒนาเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน

โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG คืออะไร BCG Economy โมเดลสำหรับพัฒนาเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน

นายสุเมธ ราชประชุม
ครู โรงเรียนห้วยกรดวิทยา
15 กันยายน 2566

ในปี 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็น “วาระแห่งชาติ” ของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายให้ประเทศเป็นประเทศที่มีรายได้สูงและมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ซึ่งต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนและความร่วมมือจากในทุกภาคส่วนของประเทศ โมเดลเศรษฐกิจ BCG ย่อมาจาก ‘Bio-Circular-Green’ Economy Model ประกอบด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green) ถือเป็นเศรษฐกิจแนวใหม่ โดยการผสมผสานกันเพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจทั้ง 3 ด้านที่เชื่อมโยงกันและส่งผลกระทบต่อกัน เพื่อปรับให้ระบบเศรษฐกิจมีความสมดุลและความยั่งยืน โดยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน

BCG Model คือรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ( Bioeconomy) ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน โดยเปลี่ยนข้อได้เปรียบที่ไทยมีจากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ให้เป็นความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจ BCG ที่เติบโต แข่งขันได้ในระดับโลก เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน

โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG คืออะไร
โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG คืออะไร BCG Economy โมเดลสำหรับพัฒนาเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน

หลักของ BCG

หลักของโมเดล BCG คือ การนําความรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปพัฒนาต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรหรือวัฒนธรรมที่มีอยู่โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เช่น การผลิตสินค้า การขนส่ง การใช้พลังงานทดแทน การบริหารจัดการของเสีย เป็นต้น โมเดล “BCG” เป็นแนวคิดที่รัฐบาลจะใช้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระดับฐานราก

  • (B) = Bio economy (เศรษฐกิจชีวภาพ)
    ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
  • (C) = Circular economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน)
    ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด
  • (G) = Green economy (เศรษฐกิจสีเขียว)
    ระบบเศรษฐกิจสีเขียว มุ่งแก้ไขปัญหามลพิษ ลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน

ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว

โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG คืออะไร BCG Economy โมเดลสำหรับพัฒนาเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน

“บีซีจี สามารถตอบโจทย์หลักของรัฐบาลได้ดีที่สุด คือไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมีการตั้งคำถามว่าเมื่อจะเอาบีซีจี โมเดล แล้วไทยแลนด์ 4.0 จะยังไง ผมตอบเลยว่า 4.0 คือความก้าวหน้าล้ำยุค และทันสมัย แต่ต้องยอมรับว่าคนส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้ไปมีส่วนร่วม แต่บีซีจี โมเดล เราจะไม่ทิ้งคนส่วนใหญ่ และจะสร้างความเข้มแข็งให้กับทุกคน เมื่อเข้มแข็งแล้ว โอกาสที่เราจะเป็นไทยแลนด์ 4.0 แบบภาพรวมทั้งประเทศก็จะมีมากยิ่งขึ้น ดังนั้น บีซีจี โมเดล คือสิ่งที่จะทำให้เรากลายเป็นไทยแลนด์ 4.0 ของแท้นั่นเอง” ดร.สุวิทย์ ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์มติชน เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2562

BCG Model จะเป็นกลไกที่มีศักยภาพสูงในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศอย่างทั่วถึง สามารถกระจายโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันสามารถสร้างให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำระดับโลกในบางสาขาที่ประเทศไทยมีศักยภาพ จึงได้กำหนดเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศเพื่อใช้ในการขับเคลื่อน BCG Model ดังนี้

  • มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมเป้าหมาย BCG
  • ลดความเหลื่อมล้ำด้วยการเพิ่มรายได้เกษตรกรและชุมชน
  • ยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารของไทยขึ้นเป็นผู้ผลิตอาหารเพื่อสุขภาพและส่วนประกอบอาหารมูลค่าสูง Top 5 ของโลก
  • อุตสาหกรรมชีวภาพ การผลิตยา เครื่องมือแพทย์ วัสดุชีวภาพ มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพส่งออก เป็นแหล่งจ้างงานทักษะสูงและรายได้สูง
  • ระบบบริหารจัดการท่องเที่ยว นำไปสู่ Top 3 ของเอเชียแปซิฟิก (จัดโดย Travel & Tourism Competitiveness Index, World Economic Forum)
  • ลดการใช้ทรัพยากรลงจากปัจจุบัน

หลักในการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหลายภาคส่วนให้เป็นไปโดยมีเอกภาพและมีพลัง แต่ละภาคส่วนจะให้ความสำคัญกับทั้งการแข่งขันได้ในระดับโลกและการส่งต่อผลประโยชน์สู่ชุมชน และขับเคลื่อนโดยกลไกการทำงานแบบจตุภาคี (Quadruple Helix) ผ่านการผสานพลังภาคเอกชน ภาครัฐ มหาวิทยาลัย และชุมชน รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากพันธมิตรความร่วมมือในระดับโลก โดย กระทรวง อว. จะขับเคลื่อนศักยภาพของหน่วยงานภายใต้กระทรวง ทั้งในมิตินักวิจัย องค์ความรู้ และโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัย โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ (National Quality Infrastructure: NQI) และการส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรม มาใช้เพื่อร่วมขับเคลื่อนการทำงานในรูปแบบจตุภาคีร่วมกับภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคการศึกษา และชุมชน

โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG คืออะไร BCG Economy โมเดลสำหรับพัฒนาเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน

ที่มาภาพ: สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)

BCG Model รวบรวมห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) ของ 5 อุตสาหกรรม S-curves หลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ การแพทย์ครบวงจร และการท่องเที่ยว บูรณาการเข้าด้วยกัน เป็นฐานการสร้างมูลค่าเพิ่มขนาดใหญ่ของประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนใน GDP ถึงร้อยละ 21 และเกี่ยวข้องกับอาชีพและการจ้างงานของคนในประเทศมากกว่า 16.5 ล้านคน หัวใจสำคัญของ BCG Model คือการพัฒนาแบบคู่ขนาน ทั้งในส่วนที่อาศัยความก้าวหน้าทางวิทยาการระดับสูงสำหรับผลิตสินค้าและบริการมูลค่าสูง เช่น ส่วนประกอบอาหารสุขภาพ ชีววัตถุ สารออกฤทธิ์ทางการแพทย์ ฯลฯ และในส่วนฐานกว้างของปิรามิดที่เป็นการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เพื่อสร้างมูลค่าให้คนจำนวนมาก และการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเสริมความเข้มแข็งของทุนทางสังคมทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่จะขยายผลไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (from SEP to SDG)

แนวคิดการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อน BCG Model

การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับการกระจายโอกาส รายได้ และความเจริญ ไปสู่ประชาชนของประเทศอย่างทั่วถึง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายใต้เงื่อนไขการดูแลทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ซึ่งต้องอาศัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เข้าไปยกระดับผลิตภาพของผู้ผลิตส่วนใหญ่ที่อยู่ที่ฐานของปิรามิด ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อนและนวัตกรรมการจัดการที่จะนำไปสู่การลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสร้างความหลากหลายให้แก่ผลิตภัณฑ์ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprise) ที่มีความพร้อมในส่วนยอดของปิรามิดให้ผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมุ่งเป้าสู่การเป็นประเทศที่เป็นผู้สร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมในท้ายที่สุด ลดการพึ่งพิงเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพิ่มโอกาสในการเป็นผู้ส่งออกเทคโนโลยี

โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG คืออะไร BCG Economy โมเดลสำหรับพัฒนาเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน

การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก

  • การสนับสนุนให้เกษตรกรนำเทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์มมาปรับใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิต ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนจากการลดการใช้ปุ๋ยและยาที่เป็นต้นทุนหลักของเกษตรกรไทย และยังได้ผลิตผลที่ปลอดภัย ได้คุณภาพและปริมาณคงที่ตรงตามความต้องการของตลาด อีกทั้งยังสามารถนำผลผลิตที่ปลอดภัยและมีคุณภาพคงที่มาแปรรูปให้มีมูลค่าที่สูงขึ้นได้อีกด้วย
  • การสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น สารให้ความหวาน สารแต่งกลิ่นรส สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ พลาสติกชีวภาพ อาหารเสริมสุขภาพ ซึ่งจะช่วยดูดซับผลผลิตทางการเกษตรส่วนเกินในตลาด บรรเทาปัญหาราคาตกต่ำในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ยาง และปาล์ม
  • การผลิตยาชีววัตถุ วัคซีน และชุดตรวจวินิจฉัยที่จำเป็นได้เองภายในประเทศ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ที่มีราคาแพงได้เพิ่มขึ้น และลดการนำเข้ายาและเวชภัณฑ์
  • การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่จากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม และระบบบริหารสถานที่ท่องเที่ยว โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยท้องถิ่นสร้างเนื้อหาการท่องเที่ยว ตลอดจนบริหารจัดการเส้นทาง และจำนวนนักท่องเที่ยวได้ด้วยตนเอง ทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพแหล่งใหม่ ที่กระจายนักท่องเที่ยวสู่เมืองรองหรือชุมชนท้องถิ่น ทำให้เกิดเมืองน่าอยู่และน่าเที่ยวไปพร้อมกัน
  • การสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เน้นการแปลงของเสียให้เป็นแหล่งรายได้ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบการเดิมในระบบ รวมทั้งสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจแก่ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาปิดช่องว่างให้การใช้ทรัพยากรของประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังเป็นการแก้ปัญหาขยะที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่งด้วย
โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG คืออะไร BCG Economy โมเดลสำหรับพัฒนาเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน

“บีซีจี จะตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติอย่างน้อย 5 เป้าหมาย ได้แก่ การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์ความหลากหลาย ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน อีกทั้งยังสอดรับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย โดยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม” ดร.สุวิทย์ ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์มติชน เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2562

ตัวอย่างสิ่งประดิษฐ์ตอบชีวิต BCG

“อุปกรณ์ตัดสับปะรด” ตัด เก็บ ลดเจ็บ ในขั้นตอนเดียว

ทำความรู้จักกับ โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG คืออะไร BCG Economy โมเดลสำหรับพัฒนาเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน 10

          จากปัญหาความทุกข์ของเกษตรกรชาวไร่สับปะรดเรื่องความไม่ปลอดภัยในการทำงาน ที่ต้องแลกมาด้วยอาการบาดเจ็บจากหนามของใบสับปะรดแทง มีดบาดมือ หรือสัตว์ที่ซ่อนตัวอยู่ในไร่มาทำร้าย ธรรมนูญ รุจิญาติ และอดิศร มยาเศรษฐ นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี จึงประดิษฐ์ ‘อุปกรณ์ตัดสับปะรด’ ขึ้นมาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว

          อุปกรณ์ตัดสับปะรดที่ทั้งสองคนพัฒนาขึ้นนี้เป็นอุปกรณ์แบบ 2 in 1 คือสามารถใช้ตัดและจับผลสับปะรดได้ในเครื่องมือเดียว มีลักษณะเป็นแท่งสเตนเลสยาวประมาณ 1 เมตร ฝั่งหนึ่งเป็นที่บีบควบคุมการทำงาน อีกฝั่งเป็นกรรไกรตัดและตัวหนีบผลสับปะรด มีเชือกสำหรับสะพายพาดอุปกรณ์ไว้บนบ่า อุปกรณ์หนักประมาณ 1.3 กิโลกรัม ผลิตจากสเตนเลส 304 ปลอดสนิม ควบคุมการทำงานได้จากที่บีบ 2 จุด ที่บีบจุดแรกสำหรับควบคุมการทำงานของกรรไกรในการตัดผลและแต่งใบ ที่บีบจุดที่สองสำหรับควบคุมตัวหนีบผลสับปะรดหลังตัด อุปกรณ์นี้ออกแบบให้ยืนตัดได้สะดวก ไม่ต้องก้มหลังมากเพื่อยื่นมือเข้าไปตัดและจับผลที่ต้นเหมือนการใช้มีดตัดแบบเดิม จึงปลอดภัยและลดโอกาสเสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่หลังจากการทำงานระยะยาวได้

          นอกจากตอบโจทย์เรื่องความปลอดภัยแล้ว เกษตรกรทุกเพศทุกวัยยังใช้อุปกรณ์นี้ช่วยกันทำงานได้สะดวกสบายขึ้น จากที่คนหนึ่งเคยเก็บได้อย่างมากแค่ 5-10 ไร่ต่อวัน ก็เพิ่มขึ้นเป็น 30-35 ไร่ต่อวัน แถมอุปกรณ์มีราคาเพียง 2,500 บาท ถือว่าคุ้มค่ามากเมื่อเทียบกับความสามารถของอุปกรณ์ ทั้งคู่ยังได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ในการผลิตให้แก่รุ่นน้องที่วิทยาลัยฯ เพื่อเป็นทางเลือกในการหารายได้หลังเลิกเรียนและสร้างเสริมประสบการณ์อีกด้วย

          ผู้ที่สนใจติดต่อได้ที่ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี (ศูนย์บ่มเพาะศักยภาพนักศึกษา) รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.nstda.or.th/home/news_post/sciupdate-20200305-pineappleharvest/

“Crab Bank” เครื่องอนุบาลปูม้าแบบอัตโนมัติ ช่วยฟื้นฟูปูม้าไทย

ทำความรู้จักกับ โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG คืออะไร BCG Economy โมเดลสำหรับพัฒนาเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน 11

          “Crab Bank” เป็นเครื่องอนุบาลปูม้าแบบอัตโนมัติ ที่สิทธิพร จันทานิตย์ และภานุวัฒน์ อักษรคง นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ประดิษฐ์ขึ้น โดยผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาชาวบ้านเรื่องการฟื้นฟูปริมาณปูม้าจากธนาคารชุมชนกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อช่วยแก้ปัญหาปริมาณปูม้าในทะเลไทยและอัตราการเกิดของลูกปูม้าตามธรรมชาติลดลงจนใกล้วิกฤต ซึ่งมีสาเหตุมาจากการทำประมงเชิงพาณิชย์อย่างขาดจิตสำนึก

          ตัวเครื่องอนุบาลปูม้าแบบอัตโนมัติ Crab Bank มีลักษณะแบบคอนโดมิเนียม แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ชั้นบนสุดคือถังเก็บและกรองน้ำเค็มที่สูบมาไว้ใช้เลี้ยงปู ส่วนที่ 2 ชั้นอนุบาลปูม้าไข่นอกกระดอง ประกอบด้วยถังกลาง 1 ถัง และถังรอบนอกอีก 8 ถัง ใช้สำหรับอนุบาลปูม้าไข่นอกกระดองถังละ 1 ตัว ระบบจะคำนวณระยะเวลาอนุบาลและคอยเติมน้ำลงถังให้อัตโนมัติ เมื่อปูสลัดไข่ ให้นำไข่ในถังรอบนอก 8 ถังปล่อยลงสู่ทะเลเพื่อให้ฟักต่อตามธรรมชาติ ส่วนไข่ในถังกลางจะปล่อยลงสู่ชั้นที่ 3 ชั้นอนุบาลลูกปู ที่จะดูแลไข่จนฟักเป็นตัวก่อนปล่อยสู่ธรรมชาติ โดยเครื่องมีระบบเซนเซอร์แบบ IoT (Internet of Things) ตรวจวัดค่าความเค็มของน้ำบริเวณจุดที่จะปล่อยว่ามีสภาวะเหมาะสมแก่การปล่อยลูกปูแล้วหรือไม่ ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อลูกปูให้มากที่สุด เพิ่มโอกาสการรอดของลูกปูได้มากถึง 10 เท่าตัว หรือเทียบได้ว่ามีลูกปูเกิดใหม่อย่างน้อยหลักหมื่นตัวต่อแม่ปูม้า 1 ตัว

          นอกจากนี้ Crab Bank ใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เพื่อป้องกันไฟดับ จึงช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้มากกว่า 2,000 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ช่วยลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังนำไปใช้อนุบาลสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ เช่น ไข่หมึกทะเล ปูดำไข่นอกกระดอง ฯลฯ ได้ด้วย นับเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยอนุรักษ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจของไทยและช่วยให้ชาวประมงประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน

          รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.nstda.or.th/home/news_post/sciupdate-20200228-crabbank/

โรงเรือนอัจฉริยะ เพาะปลูกสบาย ดูแลง่าย ได้ผลผลิตดี

ทำความรู้จักกับ โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG คืออะไร BCG Economy โมเดลสำหรับพัฒนาเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน 12

          โรงเรือนอัจฉริยะ “SMART Greenhouse Knockdown Double Roof GH–1” พัฒนาโดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. เป็นโรงเรือนแบบถอดประกอบได้ (knockdown) ที่ติดตั้งระบบติดตามและควบคุมสภาวะแวดล้อมภายในโรงเรือนด้วยเซนเซอร์ 4 ตัว คือ เซนเซอร์วัดความเข้มแสง ควบคุมการทำงานของม่านพรางแสง, เซนเซอร์วัดความชื้นดิน ควบคุมการทำงานของระบบน้ำหยด, เซนเซอร์วัดความชื้นอากาศ ควบคุมการทำงานของระบบพ่นหมอก และเซนเซอร์วัดอุณหภูมิ ควบคุมการทำงานของพัดลมใต้หลังคา ซึ่งชุดเซนเซอร์และระบบควบคุมทั้งหมดจะแสดงผลแจ้งเตือนและควบคุมการทำงานผ่านสมาร์ตโฟนและเว็บไซต์ด้วยเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) เกษตรกรสามารถนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ความเสี่ยงต่างๆ ที่จะส่งผลต่อความเสียหายของผลผลิต ใช้วางแผนและบริหารจัดการการปลูกให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ได้ผลผลิตสูงขึ้น

          สำหรับการเพาะปลูกพืชจริงในโรงเรือนอัจฉริยะ สท.ร่วมกับบริษัทนาวิต้าฟู้ดส์ จำกัด พัฒนาเทคโนโลยีการเพาะปลูกเมลอนในโรงเรือนอัจฉริยะ เพื่อหาปัจจัยที่เหมาะสมต่อการเติบโตของต้นเมลอน 4 สายพันธุ์ คือ เพิร์ลเมลอนเนื้อสีส้ม (Orange Pearl), เพิร์ลเมลอนเนื้อสีเขียว (Green Pearl), กาเลียเมลอน (Japanese Galia), และเมลอนสีทอง (Golden Dragon) ตั้งแต่เริ่มเพาะปลูกจนเก็บเกี่ยว รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างโรงเรือนและตั้งค่าเซนเซอร์ให้เหมาะสมกับความต้องการของเมลอน ซึ่งผลการปลูกเมลอนทั้ง 4 สายพันธุ์ในโรงเรือนอัจฉริยะออกมาดีทั้งปริมาณผลผลิตและคุณภาพความหวาน องค์ความรู้ที่ได้ก็นำไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกเมลอนและต่อยอดใช้กับพืชอื่นๆ ได้ด้วย

          เกษตรกรทั้งผู้ที่ปลูกเมลอนหรือพืชอื่นที่สนใจนวัตกรรมโรงเรือนอัจฉริยะ “SMART Greenhouse Knockdown Double Roof GH–1” ติดต่อได้ที่สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร สวทช. โทรศัพท์ 0 2564 7000 ต่อ 1742 อีเมล agritec@nstda.or.th

รถเข็นรักษ์โลกเพื่อสตรีตฟูดไทย ทันสมัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG คืออะไร BCG Economy โมเดลสำหรับพัฒนาเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน

          หนึ่งในธุรกิจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและเป็นสีสันชูโรงการท่องเที่ยวประเทศไทย คือ “สตรีตฟูด” ซึ่งขึ้นชื่ออยู่แล้วเรื่องความหลากหลายและความอร่อย แต่ยังมีข้อจำกัดเรื่องมาตรฐานความสะอาดและความปลอดภัยในการบริโภคและต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม หรือ DECC สวทช. จึงพัฒนา “นวัตกรรมรถเข็นรักษ์โลกเพื่อสตรีตฟูด” ที่ตอบโจทย์การใช้งานของผู้ประกอบการสตรีตฟูด และเป็นไปตามระเบียบของทางราชการด้านความสะอาดและสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหาร

          รถเข็นรักษ์โลกเพื่อสตรีตฟูดสะท้อนถึงความทันสมัยและใส่ใจสิ่งแวดล้อม มีฟังก์ชันการบำบัดน้ำและบำบัดควันก่อนปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม มีตู้เก็บความเย็นพร้อมแท่นรับพ่วงข้าง สามารถเลือกรูปแบบและปรับเปลี่ยนโมเดลได้ตามลักษณะการใช้งาน ที่สำคัญคือ มีราคาไม่แพง ผู้ประกอบการเข้าถึงได้ อุปกรณ์ภายในร้านสะอาดปลอดภัย ตอบโจทย์ยุคนิวนอร์มัล อีกทั้งมีการตกแต่งรถเข็นให้มีความโดดเด่นและแสดงอัตลักษณ์ของชุมชนในพื้นที่ที่ทำการค้าได้ เช่น ตกแต่งลวดลายแบบจีน ประดับป้ายไฟในตำแหน่งชื่อร้าน โดยได้รับเสียงตอบรับที่ดีทั้งจากผู้ประกอบการและสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค

          ตอนนี้ถ้าเราไปย่านการค้ารอบสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ บริเวณถนนเยาวราช ถนนข้าวหลาม และถนนราชวงศ์ ก็จะเจอรถเข็นรักษ์โลกสำหรับสตรีตฟูดของจริง ใช้จริง ขายจริง โดยผู้ประกอบการสตรีตฟูดในย่านนั้น ซึ่ง สวทช.ร่วมกับกรุงเทพมหานคร บริษัทไทยน้ำทิพย์ จำกัด และธนาคารออมสิน ได้ส่งมอบไว้ให้ใช้ค้าขายได้อย่างสะดวก สะอาด ทันสมัย ปลอดภัย ตามนโยบายและระเบียบของกรุงเทพมหานคร

          รายละเอียดเพิ่มเติม http://www.decc.or.th/streetfood/ https://www.facebook.com/NSTDASTREETFOODMOBILE/

ที่มาของข้อมูล

บทความที่เกี่ยวข้อง

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่